CP มั่นใจเศรษฐกิจจีน ชี้หนี้อสังหาฯ ปัญหาระยะสั้น
หอการค้าไทยในจีน และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจจีนบนทางแยก: โอกาสของผู้ประกอบการไทย” เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 เพื่อนำเสนอทิศทางเศรษฐกิจจีนสำหรับผู้ประกอบการไทย
นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และนายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน กล่าวว่า เครือซีพีเริ่มบุกเบิกธุรกิจในจีนที่ฮ่องกงราวปี 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศ โดยในเวลานั้นประเทศจีนส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเราจึงเห็นโอกาสในการค้าขาย
ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 40 กว่าปีที่ได้ทำธุรกิจในจีนจึงได้เห็นความเจริญของเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้เชื่อมั่นว่าจีนเดินมาถูกทางแล้วในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยการเน้นในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี
สำหรับโมเดลความสำเร็จของจีนในช่วงแรกที่จีนเปิดประเทศนั้นจะเน้นไปที่การส่งเสริมธุรกิจอะไรก็ตามที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามา เช่น การนำเข้าวัตถุดิบ จากนั้นจึงเริ่มออกมาตรการชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อให้คนจีนได้เรียนรู้เทคโนโลยี ดึงบริษัทใหญ่อย่างโฟล์กสวาเกนมาลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1989 ทำให้จีนเริ่มเรียนรู้การผลิตรถยนต์และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก
นอกจากนั้น จีนยังใช้กลยุทธ์ในการเข้าซื้อกิจการ เพื่อเรียนรู้ know how ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อย่างกรณีเข้าซื้อกิจการเอ็มจีผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอังกฤษ เพื่อดึงให้ศูนย์การวิจัยและพัฒนาของบริษัทระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศ
“อย่างไรก็ตาม จีนเข้าใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีผู้นำอยู่แล้ว การพัฒนาเองทำให้เดินตามหลังเทคโนโลยีรถยุโรปไม่ทันคนจีนจึงมีวลีหนึ่งคือเปลี่ยนเลนเพื่อแซงรถคันหน้า เป็นกลยุทธ์การเปลี่ยนไปลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เริ่มจากตลาดในจีนให้รถไฟฟ้าเข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาป”
ทั้งนี้ การประชุมนักธุรกิจที่มณฑลเหอหนานล่าสุดที่ผมไปเข้าร่วม สรุปได้ 3 อุตสาหกรรมที่ตอนนี้จีนกำลังต้องการให้เข้าไปลงทุน ประกอบด้วย
1.จีนต้องการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ พลังงานลม และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน
2.อุตสาหกรรมอาหารสำร็จรูปพร้อมทาน ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแบรนด์อาหารในจีนยังไม่แข็งแรงสินค้าจากไทยจึงมีโอกาสอีกมาก
3.ธุรกิจด้านการบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม การบิน เพื่อสนับสนุนการสร้างเมืองใหม่ จีนจึงต้องการดึงนักธุรกิจด้านโรงแรมระดับโลกมาอยู่ในเมือง
“สำหรับวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในจีน ที่มีการขยายตัวอย่างเต็มที่และมีความกังวลว่าซัพพลายจะล้นขณะที่ดีมานต์เริ่มชะลอตัวลง แต่ผมมองว่าปัญหาดังกล่าวจะเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว ไม่ใช่ปัญหาระยะยาว เนื่องจากสัดส่วนของอสังหาฯ ที่ไร้คนเข้าพักมีน้อยมาก เมื่อเทียบการขยายตัวของความเป็นเมืองและการย้ายเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น 1% ทุกปี ส่วนปัญหาเรื่องของราคาบ้านและที่อยู่อาศัยซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมากจากการเก็งกำไร ขณะที่รายได้ของผู้ซื้อไม่ได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตาม รัฐบาลจีนก็มีการออกกำหนดโควต้าการซื้อของต่างชาติได้เพียง 1 ยูนิต"
นายไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และอุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน กล่าวว่า แม้ในปีนี้เศรษฐกิจจีนจะโตในอัตราที่ต่ำไม่ถึงสองหลักเท่ากับช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันมีขนาดใหญ่มากจึงทำให้มีการขยายตัวช้าลง อย่างไรก็ตามนโยบายของจีนชัดเจนในการเปิดกว้างและการปฏิรูปเชิงลึก ตลาดจีนจึงมีศักยภาพอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะทำธุรกิจกับจีน
โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุโภคบริโภค อาหาร บริการที่ไทยมีเอกลักษณ์ เช่น นวดแผนไทย ส่วนด้านอุตสาหกรรมเน้นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น เทคโนโลยีพลังงานสะอาด
ในขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสที่ผู้ผลิตจีนจะมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเหมาะจะเป็นแพลตฟอร์มการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมยุคใหม่ของจีน เช่น อุตสาหกรรมอีวี วัสดุใหม่ หุ่นยนต์อีคอมเมิร์ซ เอไอ และไบโอเทคโนโลยี เนื่องจากแรงกดดันสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ที่ต้องเจอกำแพงภาษี
โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน และหอการค้าไทยในจีน เปิดตัวหลักสูตร China Wealth สถาบันผู้นำตลาดจีนรุ่นที่ 1 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยที่อยากเข้าไปทำธุรกิจในจีนให้เข้าใจสภาพตลาดและการแข่งขันในจีน รวมทั้งให้เกิดการเจรจาการค้า เพื่อให้เกิดธุรกิจได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม