“เอ็กโก กรุ๊ป"เคลื่อนทุนบุกสหรัฐ ปรับพอร์ตโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
การลงทุนในต่างประเทศเป็นการแสวงหาโอกาสใหม่ๆให้ธุรกิจแต่การคัดเลือกธุรกิจที่จะไปร่วมลงทุนเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้สอดคล้องเป้าหมายโดยรวมขององค์กรและเทรนด์ของโลก
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก คัมแพซ ทู แอลแอลซี (EGCO Compass II, LLC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เอ็กโกถือหุ้นทั้งหมดและจดทะเบียนในสหรัฐ ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทในเครือโลตัส อินฟราสตรักเชอร์ พาร์ทเนอร์ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2566 เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน “พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ” ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ
โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งประกอบด้วยมาร์คัส ฮุก เอ็นเนอร์ยี่ แอลพี (มาร์คัส ฮุก) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่นอกเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่มิลฟอร์ด พาวเวอร์ แอลแอลซี (มิลฟอร์ด) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 205 เมกะวัตต์ และไดตัน พาวเวอร์ (ไดตัน) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 187 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์
“บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เดินหน้าขยายการลงทุนในสหรัฐต่อเนื่อง ด้วยการเข้าถือหุ้น 50% ใน “พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ” กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ การซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วจะสามารถรับรู้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ทันที”
โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่
ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และพรอวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และมีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ “พอร์ตโฟลิโอคัมแพซ” ได้รับประโยชน์จากการที่โรงไฟฟ้ามาร์คัส ฮุก มีสัญญาระยะยาวในการขายกำลังผลิตส่วนใหญ่ให้แก่ลองไอส์แลนด์ พาวเวอร์ ออธอริที (The Long Island Power Authority - LIPA)และขายกำลังผลิตส่วนที่เหลือในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM)
ในขณะที่โรงไฟฟ้ามิลฟอร์ดและโรงไฟฟ้าไดตันขายกำลังผลิตให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE)โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ยังขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ที่แต่ละโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ คือPJMและISO-NE
สำหรับการลงทุนใน ”พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ“ จะสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนและกำไรได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานของโลกไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นจะสำเร็จหลังจากดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปิดรายการซื้อขายแล้วเสร็จ
สอดคล้องกับสาระสำคัญจากการสัมมนา Gastech 2023 ซึ่งดำเนินการมาเป็นวันที่ 3 แล้ว มีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นผู้นำทางธุรกิจ ภาคนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ โดยด้านสภาพอากาศได้มีความเห็นร่วมกันเป็นเอกฉันท์ว่า หากจะเปลี่ยนผ่านสู่แผนการลดคาร์บอนเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนต้องลดการปล่อยคาร์บอนและเร่งเทคโนโลยีด้านสภาพอากาศ หรือ climate technologiesควบคู่กันไป
“เวทีเริ่มต้นที่การหารือถึงการดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ต้องมีศักยภาพในการเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนผ่านซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ส่งผลในวงกว้างอย่างมีนัยสำคัญ ตามข้อมูลจากGlobal CCS Institute ชี้ว่าเมื่อปีที่ผ่านมา สหรัฐและยุโรปสามารถลดก๊าซคาร์บอนออกไปได้เพียง 1.5-2.0%ของการปลดปล่อยก๊าซในปัจจุบันในช่วงปี 2030 จึงทำให้ข้อเรียกร้องที่ว่า ปี 2035 ต้องบรรลุ 1.5 องศาเซียลเซียสนั้นอาจล้มเหลวลงได้ ดังนั้นจึงต้องมีการให้ความสำคัญกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง”
พอล อีเวอริงแฮม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Asia Natural Gas & Energy Association (ANGEA) กล่าวในวงสัมมนาว่า การเปลี่ยนผ่านจะเติบโตไม่ได้หากเอเชียปราศจากก๊าซธรรมชาติและการใช้เทคโนโลยี ดักจับคาร์บอนซึ่งเป็นความท้าทายใหญ่ โดยจุดที่ต้องให้ความสำคัญสูงสุดคือแถบตอนเหนือของอาเซียน ซึ่งมีศักยภาพการกักเก็บ
ดังนั้นต้องมุ่งไปสู่การลงทุนเรื่องเหล่านี้อย่างมีนัยสำคัญด้วยเงินทุนในการศึกษารายละเอี่ยดกรอบการทำงานสำหรับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างจริงจัง โดยเทคโนโลยีที่ต้องมองหาคือการดักจับคาร์บอน การกักเก็บคาร์บอน การขนถ่ายคาร์บอน และการกำหนดราคาคาร์บอน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ นักการเงินและวิศวกรรมมาร่วมกำหนดแผนอย่างจริงจัง
ความพยายามด้านการลงทุนอย่างมียุทธศาสตร์กำลังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานประสบความสำเร็จซึ่งทุนของไทยก็ได้ลงมือทำในเรื่องเหล่านี้บ้างแล้ว