ต้องคิดรอบด้าน “แผนลดค่าไฟ”โยน กฟผ. แบกรับภาระ สุดท้ายประชาชนต้องจ่าย
หลังการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 11-12 ก.ย.2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกวันที่ 13ก.ย.2566 ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะ จะพิจารณาลดค่าพลังงาน ซึ่งรวมถึงค่าไฟฟ้าลงให้มากกว่าที่ กกพ.เคยมีมติให้ปรับลดไปแล้วก่อนหน้า 25สตางค์ต่อหน่วย
หนึ่งในแนวทางพิจารณาที่ให้ให้ปรับลดค่าไฟฟ้าลงให้มากกว่าเดิม คือให้นำเอาส่วนที่จะต้องทยอยคืนให้ กฟผ.ประมาณ 23,428 ล้านบาท มาใช้ในการคำนวณเป็นส่วนลด
ที่ผ่านมาในค่าพิจารณาค่าเอฟที งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 กฟผ.มีหนังสือแจ้งถึง กกพ.ว่าจำเป็นจะต้องได้รับการทยอยคืนเงินที่ได้แบกรับภาระต้นทุนแทนประชาชน เพื่อไม่ให้ กฟผ.เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินจนกระทบต่อการชำระคืนดอกเบี้ย การชำระค่าเชื้อเพลิงให้ปตท.และการนำส่งรายได้ให้กระทรวงการคลัง
-โดยนับตั้งแต่ เดือน ก.ย.2564 ที่ผ่านมา จนถึง เม.ย. 2566 การปรับขึ้นค่าเอฟทีไม่ได้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เป็นจริง เพราะภาครัฐต้องการช่วยลดผลกระทบให้ประชาชน จึงมีนโยบายให้กฟผ.เข้ามาช่วยแบกรับส่วนต่างของต้นทุนเเชื้อเพลิงแทนประชาชนไปก่อน คิดเป็นภาระที่เกิดขึ้นจริงรวม ประมาณ 138,485 ล้านบาท
-การแบกรับภาระแทนประชาชนดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของกฟผ. จนต้องมีการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง การขอขยายระยะเวลานำเงินส่งรัฐ การขอขยายเวลาชำระค่าเชื้อเพลิงให้ ปตท.โดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
ดังนั้นในการคำนวณค่าเอฟที งวด ก.ย.-ธ.ค. 2566 กฟผ.มีหนังสือแจ้งถึง กกพ.ที่รับผิดชอบการคิดคำนวณค่าไฟ จึงปรับลดค่าไฟลงบางส่วน โดยไม่ได้สะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่คาดว่าจะลดลงทั้งหมด เพื่อให้กฟผ.ได้รับเงินคืน เพื่อให้มีสภาพคล่อง ไปจ่ายคืนดอกเบี้ยเงินกู้ ที่เกิดจากการต้องรับภาระแทนประชาชนก่อนหน้านี้ รวมทั้งการจ่ายค่าเชื้อเพลิงให้ปตท.
-อธิบายทำความเข้าใจถึงการคำนวณค่าเอฟที ของกกพ.ว่าเป็นการคาดการณ์ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงล่วงหน้า ซึ่งที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงโดยเฉพาะ LNG นำเข้าผันผวนในระดับสูง โดยตัวเลขค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.ต้องจ่ายจริง สูงกว่าตัวเลขที่ กกพ. คำนวณไว้ จึงต้องรับภาระแทนประชาชนไปก่อน เพื่อกกพ.จะใช้คำนวณเป็นส่วนบวกเพิ่มในเอฟทีงวดถัดไปเพื่อคืนภาระให้ กฟผ. อย่างไรก็ตาม ภาระที่กกพ.ต้องเรียกเก็บเพื่อจ่ายคืนส่วนที่ กฟผ.จ่ายแทนประชาชนไปก่อนนั้น เป็นตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ณ เม.ย. 2566 มากถึง 226.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงินประมาณ 138,485 ล้านบาท
ดังนั้น กกพ.จึงต้องใช้วิธีการทยอยจ่ายคืน โดยบวกรวมต้นทุนส่วนนี้เข้าไปในค่าเอฟทีที่เรียกเก็บกับประชาชนในแต่ละงวด จนกว่า กฟผ.จะได้รับเงินส่วนนี้คืนทั้งหมด ทั้งนี้ การแบ่งงวดจ่ายคืนให้กับกฟผ. สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 คิดรวมอยู่ในค่าเอฟที 38.31 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นเงิน ประมาณ 23,428 ล้านบาท
ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ตัวเลขต้นทุนเชื้อเพลิงอาจจะสูงกว่า ที่ กกพ.ใช้คำนวณ เพราะมีแนวโน้มที่จะต้องนำเข้า LNG ราคาแพงมาทดแทนก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่อาจจะมีปริมาณต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนด โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจ้งถึงการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง G1/61 ไม่สามารถที่จะเพิ่มปริมาณจาก 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวันในวันที่ 1 ก.ค.66 เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 1ธ.ค.66 ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากเครนของเรือK1 ซึ่งเป็นเรือที่ใช้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตได้รับความเสียหาย กระบวนการติดตั้งแท่นล่าช้าไปประมาณ 2 เดือน แต่ได้เรียกการผลิตเพิ่มจากแหล่งบงกชมาทดแทนได้ ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และ จากแหล่งอาทิตย์ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งสองแหล่ง 160 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการผลิตไฟฟ้าที่มาจากเขื่อนของสปป.ลาว ที่มีต้นทุนค่าไฟถูกกว่าก๊าซ จะมีสัดส่วนที่น้อยลง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ
-หากรัฐบาลเศรษฐายังยืนแนวทางที่จะให้ กฟผ.แบกรับภาระ โดยนำเงินส่วนที่กฟผ.ควรจะต้องได้รับคืน ในงวดเอฟที ก.ย.-ธ.ค.66 จำนวน 38.31 สตางค์ต่อหน่วย มาลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนตามนโยบาย จะทำให้ กฟผ.มีปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก กระทบ ต่อการชำระหนี้เงินกู้ / ชำระค่าเชื้อเพลิง/ การนำเงินกำไรส่งรัฐ / ยกเว้นว่ากระทรวงการคลัง จะมีมาตรการอื่นใดเข้ามาช่วยเติมสภาพคล่องให้ กฟผ.
-การก่อหนี้เพิ่มของกฟผ.จะกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะ และเครดิตเรทติ้ง ของกฟผ. ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น สุดท้ายภาระทั้งหมดจะถูกส่งผ่านไปยังประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า
-ฐานะการเงินที่อ่อนแอของกฟผ.จากผลพวงที่ที่ต้องสนองนโยบายประชานิยมของรัฐบาล จะส่งผลต่อการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ โดยหากรัฐไม่มี กฟผ.มาเป็นกลไกที่แข็งแรงให้รัฐ ประชาชนก็จะต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟที่จะต้องปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว