‘คลัง’ ตั้งงบฯปี 67 ขาดดุล 6.93 แสนล้าน เพิ่มอีก 1 แสนล้าน รับโครงการรัฐบาลใหม่
ครม.ไฟเขียวทบทวนกรอบการคลังระยะปานกลาง ‘คลัง’ ตั้งงบประมาณขาดดุลปี 2567 เพิ่ม 1 แสนล้าน ขาดดุล 6.93 แสนล้านบาท รับรายจ่ายโครงการรัฐบาลใหม่ ดันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขยับ 64% นายกฯเตรียมนั่งหัวโต๊ะประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจเคาะกรอบงบฯ67 14 ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนัดแรกที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังเป็นประธานวันนี้ (13 ก.ย.) เห็นชอบ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 - 2570) ฉบับทบทวน ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เสนอเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป
โดยมีสาระสำคัญคือการปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณในปี 2567 จากวงเงินเดิมที่ทำไว้ขาดดุลงบประมาณ 5.93 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 6.93 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท เพื่อเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลมีกรอบวงเงินเพิ่มเติมที่เป็นรายจ่ายให้รัฐบาลดำเนินการในส่วนนโยบายใหม่ๆเพิ่มเติมได้ตามที่หาเสียงไว้
อย่างไรก็ตามในการปรับปรุงกรอบนโยบายการคลังระยะปานกลางในครั้งนี้จะเป็นการปรับเฉพาะปีงบประมาณ 2567 แต่กรอบงบประมาณปี 2568 – 2570 ยังคงเดิม
ซึ่งรวมทั้งโครงการที่รัฐบาลจะมีการทบทวนด้วย โดยเมื่อรวมการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นแล้วรัฐบาลจะมีวงเงินในการจัดทำงบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
เรียกประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ
โดยในวันที่ 14 ก.ย.นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังได้เรียกประชุมหน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 4 หน่วยงานประกอบไปด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อกำหนดกรอบรายจ่ายประมาณประจำปี 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาลเวลา 11.00 น.
ทั้งนี้ในการประชุม ครม.สำนักงบประมาณได้มีการยกเลิกกรอบวงเงินประมาณเดิมที่รัฐบาลก่อนตั้งไว้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.2565 ที่วงเงินรายจ่ายงบประมาณที่ 3.35 ล้านล้านบาท และขาดดุลงบประมาณที่ 5.93 แสนล้านบาทไปก่อนเพื่อให้มีการตั้งกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายใหม่โดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี และ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ
จากนั้นจะให้หัวหน้าส่วนราชการเสนอโครงการตามกรอบงบประมาณเข้ามาที่สำนักงบประมาณใหม่ภายในวันที่ 6 ต.ค.2566 โดยคาดว่า พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 จะนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ในวันที่ 17 เม.ย.2567
สำหรับเป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้จะมุ่งเน้นการควบคุมขนาดการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน ดังนี้
สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณปี 2567 อยู่ที่ 3.48 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุลฯ 6.93 แสนล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิที่ 2.787 ล้านล้านบาท ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 64% และประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2567 อยู่ที่ 3.2%
ตัวเลขหนี้สาธารณะระยะปานกลางขยับขึ้น
- ปี 2566 หนี้สาธารณะ 11.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 62.97%ของจีดีพี
- ปี 2567 หนี้สาธารณะ 12.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.00%ของจีดีพี
- ปี 2568 หนี้สาธารณะ 13.02 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.65%ของจีดีพี
- ปี 2569 หนี้สาธารณะ 13.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.93% ของจีดีพี
- ปี 2570 หนี้สาธารณะ 14.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.81% ของจีดีพี
- ปี 2571 หนี้สาธารณะ 14.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 64.68% ของจีดีพี
ส่วนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณในแต่ละปีนั้น ตามแผนยังมีการปรับกรอบวงเงินใหม่ โดยปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณเข้าไปอีก 1.3 แสนล้านบาท ส่งผลให้งบประมาณแต่ละปีปรับเพิ่มขึ้นดังนี้
ปี 2566 กรอบวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท
ปี 2567 กรอบวงเงิน 3.480 ล้านล้านบาท
ปี 2568 กรอบวงเงิน 3.591 ล้านล้านบาท
ปี 2569 กรอบวงเงิน 3.706 ล้านล้านบาท
ปี 2570 กรอบวงเงิน 3.825 ล้านล้านบาท
ปี 2571 กรอบวงเงิน 3.947 ล้านล้านบาท
ขณะที่ตัวเลขดุลการคลัง ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลางฉบับใหม่ ยังพบสัดส่วนการขาดดุลการคลังในสัดส่วนที่สูง แบ่งเป็น
- ปี 2566 ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท
- ปี 2567 ขาดดุล 6.93 แสนล้านบาท
- ปี 2568 ขาดดุล 6.92 แสนล้านบาท
- ปี 2569 ขาดดุล 7.21 แสนล้านบาท
- ปี 2570 ขาดดุล 7.51 แสนล้านบาท
- ปี 2571 ขาดดุล 7.75 แสนล้านบาท
ตัวเลขจีดีพีตามกรอบการคลังระยะปานกลาง
- ปี 2566 DGP ปรับลดลงจากเดิม 18.7 ล้านล้านบาท เป็น 18.1 ล้านล้านบาท หรือลดลง 6.12 แสนล้านบาท
- ปี 2567 DGP ปรับลดลงจากเดิม 19.7 ล้านล้านบาท เป็น 19.0 ล้านล้านบาท หรือลดลง 6.99 แสนล้านบาท
- ปี 2568 DGP ปรับลดลงจากเดิม 20.7 ล้านล้านบาท เป็น 20.1 ล้านล้านบาท หรือลดลง 6.39 แสนล้านบาท
- ปี 2569 DGP ปรับลดลงจากเดิม 21.8 ล้านล้านบาท เป็น 21.2 ล้านล้านบาท หรือลดลง 6.32 แสนล้านบาท
- ปี 2570 DGP ปรับลดลงจากเดิม 23.0 ล้านล้านบาท เป็น 22.3 ล้านล้านบาท หรือลดลง 6.22 แสนล้านบาท
- ปี 2571 DGP ปรับลดลงจากเดิม 24.1 ล้านล้านบาท เป็น 23.5 ล้านล้านบาท หรือลดลง 6.32 แสนล้านบาท
คลังชี้ทำงบประมาณขาดดุลจำเป็น
กระทรวงการคลัง รายงานว่า ในการดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลางยังมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัวผ่านการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุล เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในขณะเดียวกันจะมุ่งเน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีภูมิคุ้มกันของภาคการคลัง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต
โดยยึดหลัก “Sound Strong Sustained” ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งในส่วนของการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถรองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล
ทั้งนี้ได้คำนึงถึงการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการคลัง (Fiscal Discipline) เพื่อมุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต
สำหรับเป้าหมายของแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้ กระทรวงการคลัง ระบุว่า จะมุ่งเน้นการควบคุมขนาดการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังที่เปลี่ยนแปลงไป และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง เพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีประมาณการสถานะการคลังในระยะปานกลางภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม