การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน (ตอน 1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน มีความสำคัญอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจโลก เพราะเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นที่ 2 ของโลกและเคยขยายตัวสูงถึง 5-7% ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียง 3-4% ต่อปี
นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจีนอย่างมากทั้งในเชิงของตลาดส่งออกสินค้าและตลาดท่องเที่ยว ดังนั้น ผมจึงจะขอเขียนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในตอนนี้และอีก 2 ตอนต่อไป
ภูมิหลังของการพัฒนาและเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนนั้น มีจุดเริ่มต้นประมาณปี 1978 ที่มีการปรับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและฝ่ายตะวันตกในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองและการเปิดเสรีของเศรษฐกิจในยุคที่ เติ้ง เสี่ยว ผิง ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศจีน
ในช่วงแรกนั้นได้มีการเปิดเสรีภายในประเทศ เช่น อาศัยกลไกตลาดและการเร่งการลงทุนและสร้างงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
ต่อมา จีนเข้ามาเป็นภาคีองค์กรการค้าโลกในปี 2001 ทำให้จีนสามารถส่งออกสินค้าไปได้ทั่วโลก มีเงินทุนไหลเข้ามาจากต่างประเทศ เพื่อสนองความต้องการภายในประเทศและการเป็นฐานการผลิตสินค้าราคาถูกสำหรับขายทั่วโลก ทำให้จีนกลายเป็น Factory of the World ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา
การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในโลก (the most spectacular growth story in history) กล่าวคือ
เป็นการทำให้ประชาชนคนจีนเกือบ 800 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน และทำให้จีดีพีของจีนทะยานขึ้นจากเพียง 10% ของจีดีพีสหรัฐในปี 1980 มาเป็น 74% ของจีดีพีสหรัฐในปี 2022
แต่มาวันนี้ เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 อย่างเชื่องช้า ต่ำกว่าความคาดหมายอย่างมาก เดิมที นักวิเคราะห์ประเมินว่าจีดีพีของจีนจะต้องขยายตัวสูงกว่า 5% ในปีนี้ แต่มาวันนี้ต่างปรับการคาดการณ์ลงไป 5% หรือต่ำกว่า
ที่สำคัญคือ มีการแสดงความกังวลกันมากขึ้นว่า จีดีพีจีนอาจขยายตัวได้เพียง 3% ต่อปี ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากจีดีพีของจีนสูงถึง 18 ล้านล้านเหรียญ การขยายตัวลดลงจาก 5% เป็น 3% ต่อปี (5% เป็นเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน) จึงเป็น “เรื่องใหญ่”
ทั้งจากมุมมองของรัฐบาลจีน และจากมุมมองของเศรษฐกิจโลก กล่าวคือ 2% ของจีดีพีจีน คิดเป็นมูลค่ามากถึง 360,000 ล้านเหรียญหรือประมาณ 12.8 ล้านล้านบาท (จีดีพีของไทยในปีนี้ประมาณ 18-19 ล้านล้านบาท)
แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีนที่มีความสำคัญมากในอดีต แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญปัญหารุมเร้ามากมากคือ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้มีการประเมินว่า มีขนาดใหญ่
คือหากรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในทางตรงและทางอ้อม ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีมูลค่าประมาณ 26% ของจีดีพีจีนและเป็นสินทรัพย์ (wealth) หลักที่สำคัญสำหรับครัวเรือนของจีน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ผมกล่าวข้างต้นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนนั้น เกิดจากการเปิดประเทศและการดำเนินนโยบายสนับสนุนระบบทุนนิยมและกลไกตลาดเสรี แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือ การเคลื่อนย้ายประชาชนจากชนบทเข้ามาสู่เมืองใหญ่ (urbanization)
ข้อมูลในด้านนี้ชี้ว่าเมื่อปี 1980 เมื่อจีนมีประชากร 1 พันล้านคน มีคนอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เพียง 20% หรือประมาณ 200 ล้านคน แต่ในปี 2020 ซึ่งประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้าน คนนั้น ปรากฏว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 65% ของประชากรทั้งหมด แปลว่าประชากรในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 910 ล้านคน
ลองนึกภาพดูว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ต้องผลิตที่อยู่อาศัยรองรับประชาชน 710 ล้านคนและภาครัฐ (ในมณฑลต่างๆ) ก็จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอสังหาริมทรัพย์อีกทีหนึ่งด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจว่า อุตสาหกรรมภาคอสังหาริมทรัพย์จึงโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเชิงของการปรับขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ เพราะภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นภาคเศรษฐกิจที่เรียกว่า non-traded goods คือต่างประเทศไม่สามารถผลิตสินค้าเข้ามาแข่งขันในประเทศ
ดังนั้นจึงจะเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิด “ฟองสบู่” เห็นได้ว่าในหลายกรณีวิกฤติเศรษฐกิจและการเงิน (economic and financial crisis) นั้น มักจะมีบ่อเกิดจากภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น กรณีของประเทศสหรัฐในปี 2008 และของไทยในปี 1997
ธนาคาร Goldman Sachs ประเมินว่าปัจจุบันภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีหนี้สินในปี 2022 คิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี ดังนี้
1.หนี้สินทั้งหมดเท่ากับ 48% ของจีดีพี
2.เป็นหนี้ของประชาชน (ผู้ซื้อบ้าน) 32% ของจีดีพี
3.เป็นหนี้ของผู้ประกอบการ 16% ของจีดีพี
หากดูผิวเผินอาจคิดว่าปัญหาหลักน่าจะเป็นหนี้ของประชาชน แต่ไม่ใช่ เพราะประชาชนโดยรวม มีหนี้สินเพียง 63% ของจีดีพีและมักจะวางเงินดาวน์เป็นสัดส่วนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับราคาบ้าน
แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่มองว่า การซื้อบ้านเป็นการสร้างความมั่งคั่ง (wealth) และการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีและมีความปลอดภัย บ้านจึงเป็นสินทรัพย์หลักของครัวเรือน (บางแหล่งอ้างว่าบ้านคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของสินทรัพย์ครัวเรือน)
ดังนั้น เมื่อภาคอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา คือบ้านที่จ่ายเงินแล้ว แต่สร้างไม่เสร็จและราคาบ้านยังปรับตัวลงในหลายเมือง ก็ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจและรู้สึกยากจนลง (negative wealth effect)
ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ประชาชนไม่อยากจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ แม้จะได้มีกการเปิดเศรษฐกิจและลดดอกเบี้ย ประชาชนก็ยังไม่ตอบสนองโดยใช้เงินมากขึ้นดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์
ปัญหาหลักของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน จึงตกอยู่กับผู้ประกอบการที่เพิ่มการกู้ยืมหนี้สินอย่างมากจาก 760,000 ล้านเหรียญในปี 2008 มาเป็น 8.40 ล้านล้านเหรียญในปี 2022
เห็นได้จากการผิดชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ของจีน เช่น Country Garden และ Evergrande เป็นหนี้ที่ลดยาก เพราะบ้านที่สร้างไม่เสร็จก็มี และบ้านที่สร้างเสร็จแล้วแต่ขายไม่ได้ก็มีมากครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร