เปิดเหตุผล CP เชื่อมั่นเศรษฐกิจจีน เจ้าสัว 'ธนินท์' ประกาศลงทุนเพิ่ม

เปิดเหตุผล CP เชื่อมั่นเศรษฐกิจจีน เจ้าสัว 'ธนินท์' ประกาศลงทุนเพิ่ม

“ซีพี” เดินหน้าเพิ่มการลงทุนในจีน มั่นใจเศรษฐกิจจีน ประกาศเพิ่มลงทุนในปักกิ่ง เล็งลงทุนศูนย์นวัตกรรม เทคโนโลยีขั้นสูงหนุนซัพพลายเชนเกษตร ค้าปลีก การเงิน ตอบโจทย์จีนต้องการต่างชาติลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค

เจริญโภคภัณฑ์ (CP) ถือเป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่จดทะเบียนการค้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง เมื่อปี 2524 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลจีนนำร่องการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยใช้ชื่อบริษัทเจิ้งต้าและมีการขยายธุรกิจต่อเนื่อง 

การลงทุนในระยะแรกของซีพีเริ่มต้นลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงลงทุนตั้งฟาร์มสุกรและไก่ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่เชี่ยวชาญและเป็นธุรกิจหลักที่มีฐานอยู่ในประเทศไทย

ในปี 2565 ธุรกิจในจีนของซีพีเกิดการจ้างงาน 88,798 คน ครอบคลุม 5 ส่วน คือ 

1.โรงงานผลิต 

2.ฟาร์มเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำ 

3.ศูนย์จำหน่ายสินค้าแม็คโคร 

4.ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ตและมินิซุปเปอร์มาร์เก็ตของโลตัสส์ 

5.ศูนย์วิจัยและพัฒนา

สำหรับรายได้ของธุรกิจในจีนมีสัดส่วน 39% ของรายได้รวมของ CP ในปี 2565 ที่มีมูลค่า 2.9 ล้านล้านบาท รองจากธุรกิจในไทยที่มีสัดส่วน 51% ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลยังยังคงมีนโยบายการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศ

ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนมีทิศทางชะลอตัว แต่ CP ยังคงมีแผนที่จะลงทุนในจีนอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับแสดงความมั่นใจต่อเศรษฐกิจกิจจีน ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์

นายธนินท์ เจียรวนนท์ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยนายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าพบนายหลี่ เฉียงนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566

การเข้าพบนายกรัฐมนตรีจีนในครั้งนี้ นายธนินท์ได้รับปากที่จะเพิ่มการลงทุนในจีน หลังจากที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายดึงการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่กำลังเผชิญภาวะชะลอตัว

เปิดเหตุผล CP เชื่อมั่นเศรษฐกิจจีน เจ้าสัว \'ธนินท์\' ประกาศลงทุนเพิ่ม

นายธนินท์ กล่าวว่า การเข้าพบนายกรัฐมนตรีจีน ได้ระบุถึงการที่เครือซีพีเชื่อมั่นในการพัฒนาของจีน และเห็นความมุ่งมั่นในการพัฒนาของจีน เครือซีพีพร้อมที่จะขยายการลงทุนในจีนต่อไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยินดีที่จะให้ความร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อทั้งจีนและไทย รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการช่วยปฏิรูปและสร้างนวัตกรรมของจีน

นอกจากนี้ ความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของปักกิ่ง รวมถึงมีความเชื่อมั่นในอนาคตของปักกิ่งที่จะพัฒนาเติบโตต่อไป ซึ่งเครือซีพีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มการลงทุนในกรุงปักกิ่งประกอบด้วย 

1.การสร้างศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับนานาชาติ 

2.การพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมการเกษตรแบบครบวงจร 

3.การขับเคลื่อนด้านโลจิสติกส์ 

4.ธุรกิจค้าปลีก 

5.การเงิน 

รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีส่วนให้ประเทศจีนบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาและเติบโต พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมการจ้างงานและการเติบโตของรายได้ในประเทศ และส่งเสริมองค์กรวิสาหกิจที่มีคุณภาพสูงให้สามารถแข่งขันและสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติมากขึ้น

นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน กล่าวว่า เครือซีพีเริ่มบุกเบิกธุรกิจในจีนที่ฮ่องกงราวปี 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเริ่มเปิดประเทศ โดยในเวลานั้นประเทศจีนส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเราจึงเห็นโอกาสในการค้าขาย

สำหรับโมเดลความสำเร็จของจีนในช่วงแรกที่จีนเปิดประเทศนั้นจะเน้นไปที่การส่งเสริมธุรกิจอะไรก็ตามที่นำเงินตราต่างประเทศเข้ามา เช่น การนำเข้าวัตถุดิบ จากนั้นจึงเริ่มออกมาตรการชวนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อให้คนจีนได้เรียนรู้เทคโนโลยี ดึงบริษัทใหญ่อย่างโฟล์กสวาเกนมาลงทุนที่เซี่ยงไฮ้ในปี 1989 ทำให้จีนเริ่มเรียนรู้การผลิตรถยนต์และก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก

นอกจากนั้น จีนยังใช้กลยุทธ์ในการเข้าซื้อกิจการ เพื่อเรียนรู้ know how ของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อย่างกรณีเข้าซื้อกิจการเอ็มจีผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอังกฤษ เพื่อดึงให้ศูนย์การวิจัยและพัฒนาของบริษัทระดับโลกเข้ามาตั้งในประเทศ

“จีนเข้าใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีผู้นำอยู่แล้ว การพัฒนาเองทำให้เดินตามหลังเทคโนโลยีรถยุโรปไม่ทัน คนจีนจึงมีวลีหนึ่งคือเปลี่ยนเลนเพื่อแซงรถคันหน้า เป็นกลยุทธ์การเปลี่ยนไปลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เริ่มจากตลาดในจีนให้รถไฟฟ้าเข้ามาแทนที่รถยนต์สันดาป”

ทั้งนี้ การประชุมนักธุรกิจที่มณฑลเหอหนานล่าสุดที่ไปเข้าร่วม สรุปได้ 3 อุตสาหกรรมที่ตอนนี้จีนกำลังต้องการให้เข้าไปลงทุนประกอบด้วย

1.จีนต้องการส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลล์ พลังงานลม และเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน

2.อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งแบรนด์อาหารในจีนยังไม่แข็งแรงสินค้าจากไทยจึงมีโอกาสอีกมาก

3.ธุรกิจด้านการบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม การบิน เพื่อสนับสนุนการสร้างเมืองใหม่ จีนจึงต้องการดึงนักธุรกิจด้านโรงแรมระดับโลกมาอยู่ในเมือง