เรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคจากการประชุมเฟดล่าสุด


เรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคจากการประชุมเฟดล่าสุด


อาทิตย์ที่แล้ว เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50 ตามการคาดการณ์ของตลาดพร้อมให้สัญญาณว่าวัฏจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2022 อาจจบลงสิ้นปีนี้

ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะชี้ถึงความสำเร็จของเฟด ที่สามารถลดอัตราเงินเฟ้อที่สูงลงได้โดยไม่ทําให้เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย และเบื้องหลังความสำเร็จนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจาก ความคงเส้นคงวาของเฟดในการการทําหน้าที่

ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับเงินเฟ้อ และตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยอย่างมีหลักตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาคในการดำเนินนโยบายการเงิน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ก่อนการประชุมเฟดเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ภาพเศรษฐกิจสหรัฐดูดีในทุกมิติ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ตํ่าที่ร้อยละ 3.7 อัตราการว่างงานก็ตํ่าที่ร้อยละ 3.8 ความไม่สมดุลในตลาดแรงงานลดลงทําให้แรงกดดันต่ออัตราค่าจ้างเริ่มผ่อนคลาย

กิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้มแข็ง โดยจีดีพีสหรัฐไตรมาสสามอาจขยายตัวได้มากกว่าร้อยละสี่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดหมายของภาคธุรกิจก็อยู่ในเกณฑ์ตํ่า

ทั้งหมดเป็นภาพที่ดีทำให้ตลาดการเงินคาดว่าเฟดคงไม่จำเป็นต้องทําอะไรเพิ่มเติมในแง่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปคือเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เพราะทุกอย่างดูดี

เรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคจากการประชุมเฟดล่าสุด


แต่ที่ยังไม่แน่ใจคือจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร คืออะไรจะเกิดขึ้นหลังการประชุมในแง่ท่าทีของนโยบายการเงิน การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.25-5.50 จึงออกมาตามคาด

โดยเฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐกําลังไปได้ดีเกินคาด ขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่เข้มแข็ง ขณะที่การลงทุนเอกชนและภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอลงตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย

ตลาดแรงงานเข้มแข็ง การจ้างงานใหม่มีต่อเนื่อง อัตราการว่างงานตํ่า ความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงานลดลง ผ่อนคลายแรงกดดันที่การเพิ่มของอัตราค่าจ้างจะมีต่ออัตราเงินเฟ้อ

ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมอยู่ที่ร้อยละ 3.7 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากราคาพลังงานที่คงเป็นปัจจัยชั่วคราวตามสถานการณ์ตลาดนํ้ามันโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ของภาคธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ตํ่า ชี้ถึงความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภคสหรัฐเกี่ยวกับเสถียรภาพเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน

ในการประชุมเมื่อวันพุธ เฟดมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.7 ยังสูงกว่าเป้าระยะยาวที่ร้อยละ 2 และลงได้อีกแต่จะใช้เวลา โดยประเมินว่าเงินเฟ้อสหรัฐปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ลดลงเป็นร้อยละ 2.5 ปี 2025 และร้อยละ 2.0 ปี 2026

เรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคจากการประชุมเฟดล่าสุด


การใช้เวลาดังกล่าวบวกกับขณะนี้มีปัจจัยเช่น ราคาน้ำมัน การบริโภคในประเทศ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะสั้น ทําให้เฟดจําเป็นต้องรักษาแนวนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อสามารถปรับลดลงได้ตามเป้า

ความเห็นส่วนตัวของกรรมการ ในคณะกรรมการนโยบายเงินของเฟดส่วนใหญ่ขณะนี้มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นได้อีกหนึ่งครั้งก่อนสิ้นปี หมายถึงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นอาจจบลงสิ้นปีนี้

การตัดสินใจของเฟดเมื่อวันพุธและการตอบคำถามสื่อของประธานเฟดคือ นายเจอโรม โพเวลล์ หลังการประชุมมีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายเรื่องเกี่ยวกับการทําหน้าที่ของเฟด

หนึ่ง การคงอัตราดอกเบี้ยในภาวะที่เศรษฐกิจไปได้ดีพร้อมส่งสัญญาณความพร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลงตามเป้า

แสดงถึงความมั่นใจของเฟดมากพอควรเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐ คือ เศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่องและเงินเฟ้อลดลง เห็นได้จากที่เฟดปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐปีนี้เป็นร้อยละ 2.1 และร้อยละ 1.5 ปีหน้า

ปรกติในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อยังเป็นความเสี่ยงต่อนโยบายการเงิน การตัดสินใจของเฟดจะโน้มไปทางทํามากไว้ก่อนคือ ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ความสำคัญกับการลดเงินเฟ้อ

เรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคจากการประชุมเฟดล่าสุด


แต่คราวนี้ที่เฟดคงดอกเบี้ยจึงสะท้อนการปรับไปสู่การให้ความสมดุลมากขึ้นระหว่างเงินเฟ้อกับการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวและเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าแม้ใช้เวลา

สอง การลดอัตราเงินเฟ้อจากอัตราที่สูงพร้อมเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องต้องถือเป็นความสำเร็จที่งดงามของเฟดในการทําหน้าที่ คือ สามารถซอฟต์แลนด์เศรษฐกิจสหรัฐจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงได้ โดยไม่ทําให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

เป็นเรื่องที่ยากในการทํานโยบายที่ย้อนกลับไปเกือบสองปี ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นเรื่องที่จะทำได้ ความสำเร็จนี้มาจากการทําหน้าที่ของเฟดที่ให้ความสำคัญกับการลดเงินเฟ้ออย่างคงเส้นคงวา สื่อสารอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นที่เงินเฟ้อต้องลดลง และชี้นําให้ตลาดการเงินปรับล่วงหน้า

ทั้งหมดเกิดขึ้นต่อเนื่องช่วง18 เดือนที่ผ่านมาแม้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากและต่อเนื่องจะมีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน

สาม การตัดสินใจเรื่องขนาดและจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดแต่ละครั้งจะซ่อนไว้ซึ่งแนวคิดเศรษฐศาสตร์มหภาค

ตัวอย่างเช่น ล่าสุดที่เฟดคงดอกเบี้ย มีคําถามจากสิ่อมวลชนว่า ทำไมยังต้องคงและสื่อสารนโยบายที่เข้มงวดไว้เมื่อทุกอย่างไปได้ดี คําตอบของเฟดคือ ยังไม่แน่ใจว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่อยากเห็นหรือยัง

เรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคจากการประชุมเฟดล่าสุด


สำหรับเศรษฐศาสตร์มหภาค เศรษฐกิจจะไปได้ดีและมีเสถียรภาพถ้าส่วนต่างๆของเศรษฐกิจมีความสมดุล สะท้อนจากตัวแปรเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีนโยบายการเงินคือ อัตราดอกเบี้ยแท้จริง หมายถึงอัตราดอกเบี้ยที่เป็นตัวเงินเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ที่ควรเป็นบวกสำหรับเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

แต่จะบวกมากหรือน้อยไม่มีใครทราบ เพราะระดับที่เหมาะสมหรือระดับที่อยากเห็นของแต่ละเศรษฐกิจจะต่างกัน

ตอนเริ่มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดต้นปีที่แล้ว อัตราดอกเบี้ยสหรัฐตํ่ามากใกล้ศูนย์ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูง คือ อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ สะท้อนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมาก

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่ทำต่อเนื่องรวมแล้วประมาณร้อยละห้า ทําให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐลดลงและอัตราเงินเฟ้อแท้จริงกลับมาเป็นบวก ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมมากขึ้นกับเศรษฐกิจที่เติบโตและการรักษาเสถียรภาพให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ตํ่า

แต่จะต้องเป็นบวกเท่าไร เป็นสิ่งที่เฟดคงกําลังมองหาคำตอบเพื่อนําอัตราดอกเบี้ยแท้จริงไปสู่ระดับที่อยากเห็น

นี่คือเศรษฐศาสตร์มหภาคล้วนๆ เป็นตัวอย่างชัดเจนว่าการทํานโยบายเศรษฐกิจตามหน้าที่และหลักวิชาจะให้ผลทางนโยบายอย่างที่ต้องการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและส่วนรวม

เรียนเศรษฐศาสตร์มหภาคจากการประชุมเฟดล่าสุด


คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]