ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บ. เขย่าโครงสร้างค่าจ้าง เบียด แรงงานฝีมือ-คุณวุฒิวิชาชีพ
“รัฐบาล” กล่อมเอกชนขึ้นค่าแรง เร่งไตรภาคีสรุป 2 แนวทางขึ้น 46-72 บาท ดัน 400 บาททั่วประเทศหรือนำร่องบางจังหวัด ชง ครม.เคาะ พ.ย.นี้ มีผลปีใหม่ “นายจ้าง” ชี้กระทบโครงสร้างค่าแรงทั้งระบบ ขยับใกล้แรงงานมีฝีมือและค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพ
นายโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ภายในปี 2570 เป็นนโยบายพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ผลักดัน โดยจะบริหารเศรษฐกิจให้ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และในระยะแรกจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2566
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินสายหารือกับภาคเอกชนเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับค่าแรงเป็นวันละ 400 บาท โดยได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ซึ่งได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ทั้งนี้ คณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) จะพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดในเดือน ต.ค.2566 ใน 2 แนวทาง คือ
- การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ทุกจังหวัดพร้อมกันตั้งแต่ 46-72 บาท
- การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท นำร่องเฉพาะบางจังหวัด โดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเคยใช้แนวทางนี้เมื่อปี 2555 นำร่อง 7 จังหวัด ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และขึ้นครบทุกจังหวัดในปี 2556
สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง จะให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลขขึ้นมา โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในเดือน พ.ย.2566 ก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2567
สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง จะให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเสนอตัวเลขขึ้นมา โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ซึ่งจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในเดือน พ.ย.2566 ก่อนประกาศให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2567
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า นโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้อัตราเดียวทั่วประเทศหรือไม่ แต่ถ้าเทียบเคียงกับการปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เมื่อปี 2555-2556 พรรคเพื่อไทยใช้นโยบายอัตราเดียวทั่วประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะใช้นโยบายอัตราเดียวทั่วประเทศอีกครั้ง
ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดครั้งล่าสุดเมื่อปี 2555 แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยกลุ่มแรกปรับขึ้นเป็น 300 บาท ทันทีรวม 7 จังหวัด คือ ภูเก็ต กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาคร ส่วนอีก 70 จังหวัดปรับขึ้นในปี2556
ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันมี 9 อัตรา ตั้งแต่ 328-354 บาท โดยถ้ามีการปรับค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศจะทำให้กลุ่มจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำ 328 บาท ปรับขึ้นมากที่สุด 72 บาท รวม 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่านและอุดรธานี
นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศ จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างค่าจ้างทั้งระบบแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.กระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น เพราะต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นทันที 46-72 บาท ซึ่งประมาณการณ์เศรษฐกิจที่รัฐบาลมองว่าจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% ยังมีความเสี่ยง โดยเฉพาะเศรษฐกิจในปี 2567 ที่ยังคงมีโมเมนตัมต่อจากปลายปี2566 และการอัดเงินเข้าระบบ 560,000 ล้านบาท ผ่านการแจกเงินดิจิทัลอาจมีผลต่อเศรษฐกิจระยะสั้น
ค่าแรงขั้นต่ำเข้าใกล้แรงงานฝีมือ
2.กระทบต่อค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพ เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาท จะใกล้เคียงกับค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพ และจะทำให้ค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพไม่มีใช้บังคับ โดยค่าแรงขั้นต่ำเป็นค่าแรงระดับต้นของแรงงานไร้ฝีมือ และค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ที่ใกล้เคียงค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพ จะไม่กระตุ้นให้แรงงานพัฒนาทักษะของตัวเอง
ในขณะที่ค่าแรงตามคุณวุฒิวิชาชีพที่ผ่านการรับรองมาตรฐานใน 129 สาขา จะมีค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 400 บาท เศษ เช่นช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตรระดับ 1 วันละ 465 บาท , พนักงานผสมเครื่องดื่มระดับ 1 วันละ 475 บาท , ช่างระบบส่งถ่ายกำลัง วันละ 495 บาท
รวมทั้งถ้ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบาย 600 บาท ภายในปี 2570 จะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือ มีอัตราการจ่ายสูงกว่าค่าแรงของแรงงานฝีมือและค่าจ้างตามคุณวุฒิวิชาชีพ ไม่อย่างนั้นจะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงให้แรงงานกลุ่มนี้ด้วย
3.กระทบต่อค่าแรงงานมีฝีมือในสถานประกอบการที่จ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้วที่อาจต้องปรับค่าแรงขึ้นตาม เช่นแรงงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผู้ประกอบการเป็นเอสเอ็มอี
นายธนิต กล่าวว่า ภาคเอกชนหลายองค์กรได้มีข้อเสนอให้ส่งเสริมการจ่ายค่าแรงตามฝีมือ โดยปัจจุบันการรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพยังรวมศูนย์อยู่ที่กระทรวงแรงงาน ซึ่งอาจทำให้การเข้าถึงของแรงงานมีจำกัด ดังนั้น กระทรวงแรงงานควรมีหน่วยงานรับรองของเอกชนที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมและรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้แรงงานใช้เป็นกลไกในการเพิ่มค่าจ้าง