'พลังงาน' เกาะติดเงินบาทอ่อน มั่นใจ 'กองทุนน้ำมัน' ตรึงดีเซลไหว
สถานการณ์ค่าเงินบาทที่อยู่ในระดับอ่อนค่าทำให้กระทรวงพลังงานต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อต้นทุนราคานำเข้าน้ำมันที่ส่วนใหญ่จะต้องนำเข้า
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ค่าเงินบาทวันที่ 22 ก.ย.2566 อยู่ที่ 36.318 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแน่นอนว่าเงินบาทอ่อนค่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุนราคาน้ำมันในไทย และมีผลกระทบต่อการเพิ่มเงินอุดหนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้จะเคยมีกรณีเงินบาทอ่อนค่าบ้างแต่ไม่นานมากนัก ซึ่งกระทรวงพลังงานยังคงใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระดูแลราคาดีเซลให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลได้ ซึ่งปัจจุบันอยูที่ลิตรละ 29.94 บาท ได้ไปจนถึงสิ้นปี 2566 นี้แน่นอน
สำหรับสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 17 ก.ย.2566 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 41,410 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 103,051 ล้านบาท แบ่งเป็นติดลบจากบัญชีน้ำมัน 16,902 ล้านบาท บัญชีก๊าซ LPG 44,739 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานต้องเตรียมแผนรองรับไว้เสนอภาคนโยบาย และเฝ้าติดตามสถานการณ์ค่าเงินอย่างใกล้ชิด ซึ่งยอมรับว่าปัจจัยเงินบาทอ่อนค่าแม้จะกระทบต่อต้นทุนน้ำมัน แต่ไม่เท่ากับราคาน้ำมันตลาดโลกที่โดยเฉลี่ยหากมีราคาปรับขึ้น 1 ดอลลาร์จะกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศไทยที่ 20 สตางค์
“บางครั้งน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นครั้งละ 3 ดอลลาร์ ก็ตกเฉลี่ยที่ 60 สตางค์แล้ว ซึ่งส่วนตัวมองว่าประเด็นรัสเซียลดการส่งออกน้ำมันจึงถือเป็นปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันตลาดโลกที่สำคัญในตอนนี้”
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.34 บาทต่อดอลลาร์เฉลี่ย 35.5853 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.23 บาทต่อลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.36 บาทต่อลิตร ส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 2.28 บาทต่อลิตร
โดยหากอัตราแลกเปลี่ยนมีหารเปลี่ยนแปลง 1 บาท จะส่งผลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 0.70 บาทต่อลิตร ดังนั้น เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงจากเดิมระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ขยับเป็น 38 บาทต่อดอลลาร์ จะส่งผลต่อต้นทุนน้ำมันอีก 2.1 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ สนพ.ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน จากความกังวลว่าอุปทานน้ำมันโลกจะเผชิญภาวะตึงตัวต่อเนื่องหลังซาอุฯ ขยายเวลาลดกำลังการผลิต และรัสเซียขยายเวลาลดการส่งออกน้ำมันถึงสิ้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจของยุโรปที่มีแนวโน้มชะลอตัวหลังคณะกรรมาธิการยุโรปลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของยูโรโซน ในปี 2566 มาอยู่ที่ 0.8% โดยชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในยุโรปยังอยู่ระดับสูง อีกทั้งต้องจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่ง Reuters Polls คาด ECB จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ อีก 0.25% จากระดับปัจจุบัน มาอยู่ที่ 4.00% เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อให้มาอยู่ที่เป้าหมายที่ 2%
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกวันที่ 4-10 ก.ย.2566 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัสเฉลี่ยอยู่ที่ 90.37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 87.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 4.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามลำดับ
ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ก.ย.2566 ปรับลดลง 6.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 416.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.6 ล้านบาร์เรล
ทั้งนี้ ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย แบ่งเป็น
ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ 109.10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 103.35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 106.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทรงตัวจากสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ในสหรัฐ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 ก.ย.2566 ลดลง 2.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 214.7 ล้านบาร์เรล ขณะที่อุปสงค์ของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.25 ล้านบาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 9.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้าน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ในสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 ก.ย.2566 เพิ่มขึ้น 0.91 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ 13.84 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ 121.78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยตลาดคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันดีเซลทั่วโลกอาจปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500,000 บาร์เรล/วัน ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จากฐานตัวเลขอุปสงค์ของกลุ่มประเทศซีกโลกเหนือและจีน ซึ่งอยู่ระดับต่ำเมื่อปีที่แล้ว
รวมทั้ง Platts ประเมินปริมาณส่งออกดีเซลของรัสเซียจากท่าทางตะวันตกในทะเลบอลติกและทะเลดำ เดือน ก.ย.2566 ลดลง 130,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลต่อวัน จากโรงกลั่นขนาดใหญ่ 12 แห่ง ในประเทศปิดซ่อมบำรุง