ครม.ไฟเขียวก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน งบฯ67 ชดเชยขาดดุลฯ-หนี้รัฐวิสาหกิจ
ครม.ไฟเขียวแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 ก่อหนี้ใหม่ 1.94 แสนล้าน ชดเชยขาดดุลฯ-หนี้รัฐวิสาหกิจ เพิ่มจากแผนบริหารหนี้เดิม 1.6 ล้านล้านบาท และแผนการชำระหนี้ 3.9 แสนล้านบาท จี้ รฟท. ขสมก.เร่งแผนฟื้นฟูหลังยังมีการก่อหนี้เพิ่ม
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ (แผนฯ) ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว การบริหารหนี้ที่ครบกำหนด และการชำระหนี้ที่ประกอบด้วย
- แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท
- แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
- แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินงานตามแผนฯ หน่วยงานภายใต้แผนฯ จะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย โดยสาระสำคัญของแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1. แผนการก่อหนี้ใหม่ ประกอบด้วย
(1) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2566 ที่มีการขยายเวลากู้เงินออกไปภายหลังจากวันสิ้นปีงบประมาณสำหรับการเบิกจ่ายกันเหลื่อมปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อดำเนิโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(2) การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ เป็นการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาที่สำคัญ รวมถึงเป็นการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ
2. แผนการบริหารหนี้เดิม ส่วนใหญ่เป็นการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เดิมที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2567
3. แผนการชำระหนี้ ประกอบด้วย แผนการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานของรัฐจากงบประมาณ ปี 2567 วงเงิน 336,807 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้จากแหล่งเงินอื่นๆ วงเงิน 53,731.63 ล้านบาท
โดยในแผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567 มีรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการต่ำกว่า 1 เท่า สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนฯ ประจำปีงบประมาณ 2567
ทั้งนี้ ขอให้ รฟท. และ ขสมก. เร่งรัดดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ และเพื่อทำให้ฐานะทางการเงินของหน่วยงานดีขึ้น และขอให้ รฟท. และ ขสมก. รายงานความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของหน่วยงานต่อคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อทราบต่อไป
จากประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 จากการดำเนินการตามแผนฯ ที่เสนอในครั้งนี้จะยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนดที่ไม่เกินร้อยละ 70