ส่องแผนบริหารหนี้สาธารณะ 67 – 70 รัฐจ่อกู้อีก 4.7 ล้านล้าน หนุนศก.โตต่อเนื่อง

ส่องแผนบริหารหนี้สาธารณะ 67 – 70  รัฐจ่อกู้อีก 4.7 ล้านล้าน หนุนศก.โตต่อเนื่อง

ส่องแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2567 - 2570 รัฐบาลมีแผนกู้เงิน 4.7 ล้านล้าน ทั้งการลงทุนรัฐวิสาหกิจ และกู้ขาดดุลฯ ชี้หนุนเศรษฐกิจโตต่อเนื่องจากช่วงฟื้นตัวของโควิด-19 รมว.คลังระบุลดการขาดดุลลงเหลือไม่เกิน 3% ของงบประมาณภาพรวม

การจัดทำการคลังระยะปานกลาง 2567 – 2570 ที่จะเริ่มต้นขึ้นในการจัดทำงบประมาณปี 2570 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบกรอบการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567 - 2570) แล้ว และกำลังจะเห็นชอบกรอบในการจัดทำงบประมาณปี 2567 ในวันอังคารที่ 10 ม.ค.นี้

ทั้งนี้การจัดทำงบประมาณในระยะปานกลางรัฐบาลได้มีการวางแผนลดการขาดดุลงบประมาณลงจากในช่วงก่อน โดยมีเป้าการขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ของกรอบวงเงินงบประมาณทั้งหมด ซึ่งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังกล่าวว่าเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณที่ลดลงถือว่าเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลที่ลดลงถือว่ามีความเหมาะสมเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 โดยการขาดดุลงบประมาณที่ลดลงจะส่งผลดีต่องบประมาณในระยะยาว ทำให้ลดการกู้ยืมเงินของภาครัฐลง ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บงบประมาณ และประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ว่าทิศทางนโยบายของภาครัฐในการจัดทำงบประมาณนั้นจะพยายามลดการขาดดุลงบประมาณลงแต่เนื่องจากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการใช้จ่ายของภาครัฐยังถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงเวลา 2567 – 2570 จึงจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้ต่อไปเพื่อดำเนินการลงทุน และใช้จ่ายทั้งในส่วนของภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ตามรายงานเรื่องแผนการคลังระยะปานกลาง ที่กระทรวงการคลังเสนอ ครม.เห็นชอบ นั้นระบุว่าแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะแผนการคลังระยะปานกลาง กำหนดให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19รวมถึงการกู้เงินในกรณีที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ในช่วงปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นในการระดมทุนเพิ่มขึ้น

โดยความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง  มีวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,771,405 ล้านบาท ประกอบด้วยการกู้เงินของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ 878,693 ล้านบาท  และการกู้เพื่อชดเชย การขาดดุลงบประมาณ 3,564,000 ล้านบาท

ส่องแผนบริหารหนี้สาธารณะ 67 – 70  รัฐจ่อกู้อีก 4.7 ล้านล้าน หนุนศก.โตต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีภารกิจที่สำคัญ ในการกู้เงินให้ครบตามความต้องการในแต่ละปีเพื่อตอบสนองนโยบายการคลังตังกล่าว และกำกับติดตามให้ หนี้สาธารณะมีความยั่งยืนภายใต้ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งได้กำหนดกรอบเพดานสัดส่วนตัวชี้วัด ทางการคลังในการบริหารหนี้สาธารณะไว้ 5 ด้าน โดยสถานะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 ยังอยู่ภายใต้เพดานหนี้สาธารณะที่กำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)  อยู่ที่ 60.41% โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 70% เพื่อควบคุมให้การก่อหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจสอดคล้องกับระดับรายได้ของประเทศในแต่ละช่วงเวลา

 

2. สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ อยู่ที่ 29.27%  โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 35% เพื่อควบคุมให้ภาระหนี้ของรัฐบาลและหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระทั้งในส่วนของภาระดอกเบี้ยจ่ายและเงินต้นที่ครบกำหนดสอดคล้องกับประมาณการรายได้ของรัฐบาล

3.สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด อยู่ที่ 1.7%

โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 10% เพื่อควบคุมการก่อหนี้ต่างประเทศที่ถือเป็นหนี้สาธารณะไม่ให้ สูงเกินไปจนอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

4.สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ อยู่ที่ 0.06% โดยเพดานกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 5%

เพื่อควบคุมการชำระหนี้สาธารณะ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้สอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่เป็นเงินตราต่างประเทศ

และ 5.สัดส่วนงบประมาณเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระการชำระหนี้ อยู่ที่ 3.22% โดยกำหนดกรอบวินัยในการชำระคืนต้นเงินกู้ของหนี้ที่รัฐบาลรับภาระไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลผลักภาระการชำระหนี้ที่ควรจะต้องชำระในแต่ละปีงบประมาณออกไปในอนาคต

ในขณะเดียวกันกระทรวงการคลังได้กำกับและติดตามต้นทุนการกู้เงินอันได้แก่ ภาระดอกเบี้ยจ่ายของหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระซึ่งเป็นภาระต่องบประมาณในส่วนงบรายจ่ายประจำไม่ให้สูงเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการจัดสรรงบประมาณในหมวดอื่น ๆ เช่น งบลงทุนของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อพัฒนาประเทศ
 

ทั้งนี้ สบน. ได้กำหนดเกณฑ์ภายในโดยกำหนดให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยจ่ายของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณไม่เกิน 10% ซึ่งอ้างอิง จากเกณฑ์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยสถานะ ณ สั้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 8.29% ซึ่งยังอยู่ภายใต้เกณฑ์ภายในที่กำหนด