เปิดความเห็น ‘แบงก์ชาติ’ ถึง ‘ครม.’ ทำไม? ‘พักหนี้เกษตร’ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
เปิดความเห็น “แบงก์ชาติ”ส่งถึง ครม.มองมาตรการพักหนี้เกษตรกรไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้เกษตร เนื่องจากมาตรการยังเป็นลักษณะวงกว้างไม่เจาะจงเฉพาะราย อาจเกิดปัญหา Moral Hazard กระทบการดำเนินการระยะยาว ธ.ก.ส.แนะ5ข้อรัฐบาลแก้หนี้เกษตรเรื้อรังอย่างยั่งยืน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลังเป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบ มาตรการในการ "พักหนี้เกษตรกร" ที่เป็นลูกหนี้รายย่อยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่มีหนี้สูงสุดไม่เกินรายละ 3 แสนบาท เป็นเวลา 3 ปี โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี ใช้งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 11,096 ล้านบาท จำนวน 2.698 ล้านราย รวมต้นเงินคงเป็นหนี้ทั้งหมด 283,327.99 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2566)
โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่ามาตรการพักหนี้เกษตรกร เพื่อดูแลบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน เพราะรัฐบาลนี้มาเพื่อประชาชน อะไรที่ทำได้ก็จะทำก่อน โดยเฉพาะการพักหนี้เกษตรกรที่รัฐบาลต้องเข้าไปดูแลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีขวัญกำลังใจทำงานต่อได้ และทำให้นโยบายรัฐบาลนำเข้าไปสู่กระบวนการฟื้นฟูได้ โดยใช้ “การตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้อันจะส่งผลให้รายได้ของประชาชนเกษตรกรดีขึ้นตามไปด้วยและเกิดการแก้ปัญหาระยะยาวให้เกษตรกร ทำให้การพักหนี้เกษตรกรน้อยลง
แม้ว่าที่ประชุม ครม.ได้มีการเห็นชอบมาตรการพักหนี้แล้ว แต่ในการให้ความเห็นของหน่วยงานเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ให้ความเห็นกับมาตรการนี้ว่ายังเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา
ลูกหนี้กว่าครึ่งหนึ่งของพอร์ตสินเชื่อ ธ.ก.ส. เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง ไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ ธปท. จึงเห็นว่ารัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาให้ได้อย่างจริงจัง
แม้มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรที่เสนอต่อ ครม. ในครั้งนี้ จะแตกต่างจากการพักหนี้ที่ผ่านมาในบางประเด็น แต่มีส่วนที่ ธปท. ยังมีข้อกังวล เนื่องจากแนวทางในภาพรวมอาจยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดย ธปท.มีหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)ว่าในการขอความเห็นในมาตรการนี้จาก ธปท.ขอเรียนว่า ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศมาอย่างยาวนาน ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมาเน้นไปที่การพักชำระหนี้ ทำให้พบว่าลูกหนี้มีหนี้เพิ่ม มีการขาดวินัยการเงิน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
1. การพักชำระหนี้ไม่ควรเป็นเครื่องมือหลักของรัฐในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกรทุกกลุ่ม จากสถานการณ์หนี้ในปัจจุบัน รัฐควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่ม หนี้เรื้อรังที่มีจำนวนกว่าครึ่งของลูกหนี้ ธ.ก.ส. ที่มีภาระหนี้สูงจนไม่สามารถชำระหนี้เพื่อลดต้นเงิน และไม่สามารถแก้ไขหนี้ด้วยตนเองได้ ซึ่งยังไม่มีนโยบายช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม (policy gap)
2. การพักชำระหนี้ในครั้งนี้เป็นการพักหนี้แบบวงกว้าง ดังนั้นภายใต้งบประมาณจำกัดรัฐจึงกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามยอดหนี้คงค้างไม่เกิน 300,000 บาท ทำให้การช่วยเหลือไม่ตรงจุด ทำให้รัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มลูกหนี้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง และครอบคลุม
ห่วงกระทบวินัยการเงิน แรงจูงใจในการจ่ายหนี้ลดลง
3. การพักหนี้โดยไม่มีกลไกจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพยังชำระหนี้ต่อเนื่อง จะส่งผลต่อวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้ที่เคยมีพฤติกรรมชำระหนี้ตีอาจหยุดชำระหนี้ เกิดปัญหา moral hazard ช่วยให้ลูกหนี้ตกอยู่ในวังวนหนี้โดยไม่จำเป็น และกลายเป็นหนี้เรื้อรังมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นภาระของภาครัฐ และ ธ.ก.ส. ในระยะข้างหน้า
แนะ 5 ข้อแก้หนี้เกษตรกรยั่งยืน
สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ในครั้งนี้ ธปท. เห็นว่าควรพิจารณาแนวทางดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันมีให้ปัญหาหนี้เกษตรกรเรื้อรังและรุนแรงมากขึ้นมีดังนี้
1. กำหนดแนวทางแก้ไขหนี้จะต้องสอดคล้องกับศักยภาพและปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มโดยควรให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง (persistent debt) ที่การพักหนี้จะยิ่งทำให้ความเป็นหนี้เรื้อรังยืดเยื้อขึ้น แต่ควรส่งเสริมให้ ธ.ก.ส. ปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพลูกหนี้อย่างทั่วถึง รวมทั้งรัฐควรมีมาตรการช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ที่ทำให้ลูกหนี้สามารถลดภาระหนี้ได้
2. การพักหนี้ในครั้งนี้ ควรมีกลไกสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพยังชำระหนี้ต่อเนื่อง โดยออกแบบมาตรการที่ให้ผลตอบแทนแก่ลูกหนี้มากพอที่จะยังชำระหนี้ต่อ ซึ่งอาจทำได้โดย
- หากลูกหนี้ชำระหนี้ระหว่างเข้าร่วมมาตรการให้ตัดชำระต้นทั้งจำนวน
- รัฐอาจมีมาตรการ จูงใจเพิ่มเติม เช่น การให้เงินสมทบเพิ่มเติมเป็นสัดส่วนของการชำระหนี้ เป็นต้น
ธปท.ชี้ควรพักหนี้เกษตรกรแค่ 1 ปี
3. การพักหนี้ในครั้งนี้ ควรเป็นการพักระยะสั้นเพียง 1 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มในระยะต่อไป โดยในระหว่างพักชำระหนี้ต้องกำหนดให้ ธ.ก.ส.ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้เฉพาะรายให้แก่ลูกหนี้ทุกรายให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นสุดระยะเวลาพักชำระหนี้ในปีแรก รวมถึงจัดเตรียมแนวทางและระบบงาน
สำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาได้อย่างทั่วถึงในระยะต่อ ๆ ไป เพื่อป้องกันคุณภาพสินเชื่อที่อาจกลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพเฉียบพลัน (NPL cliff effect) หลังสิ้นสุดมาตรการ
4. การพักหนี้ในครั้งนี้จะสัมฤทธิ์ผลได้ รัฐจะต้องให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์และสื่อสารทำความเข้าใจกับลูกหนี้ถึงเจตนารมณ์และเงื่อนไขของโครงการอย่างชัดเจน ครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ประเด็นหลัก ที่แตกต่างออกไปจากมาตรการในอดีต ได้แก่
- เกษตรกรต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ และต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด
- เมื่อเกษตรกรเข้าโครงการรัฐยังสนับสนุน
ให้ลูกหนี้ยังชำระหนี้โดยมีมาตรการจูงใจ โดยการสื่อสารต้องทำให้ชัดเจนตั้งแต่ การประกาศนโยบายในวงกว้างจากรัฐบาล การสื่อสารมาตรการของ ธ.ก.ส. ไปยังประชาชนและพนักงานสาขาของ ธ.ก.ส. รวมถึงพนักงานสาขา ธ.ก.ส. จะต้องชี้แจงและให้ข้อมูลที่ครบถ้วนต่อลูกหนี้ที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการเพื่อให้ลูกหนี้สามารถวางแผนบริหารจัดการหนี้ได้อย่างเหมาะสม
5. กำหนดแผนการติดตามและประเมินประสิทธิภาพโครงการอย่างต่อเนื่อง และรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ เพื่อประเมินผลสำเร็จของโครงการ ความคุ้มค่าของงบประมาณ รวมทั้ง ติดตามการฟื้นฟูการประกอบอาชีพของลูกหนี้ว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการหรือไม่ เช่นการติดตามว่าเม็ดเงินที่รัฐได้ช่วยลดภาระการชำระหนี้ให้แก่เกษตรกร รวมถึงสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการประกอบ อาชีพที่มีการตั้งวงเงินเพิ่มเติมนั้น ได้นำไปลงทุน ปรับเปลี่ยน หรือขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพ และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้นด้วย