แก้หนี้เกษตรกรยั่งยืน พักหนี้คู่ออม-วินัยการเงิน
ปัญหาหนี้สินอยู่คู่กับเกษตรกรไทยมาเป็นเวลานาน แม้จะมีมาตรการพักชำระหนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่เกษตรกรมีหนี้มากกว่าศักยภาพที่จะชำระได้ ล่าสุดรัฐบาลได้ออกมาตรการพักชำระหนี้แบบใหม่ ที่ส่งเสริมวินัยการออมควบคู่ไปด้วย
มาตรการพักชำระหนี้อยู่คู่กับเกษตรกรไทยมายาวนานกว่าสองทศวรรษ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าเกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ยมากถึงกว่า 450,000 บาทต่อครัวเรือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโตขึ้นถึง 75% ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และกว่า 57% ของครัวเรือนมีหนี้สินสูงเกินศักยภาพในการชำระไปแล้ว โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดกว่า 49.7% เป็นกลุ่มหนี้เรื้อรัง มีแนวโน้มไม่สามารถปิดจบหนี้ที่มีได้ก่อนอายุ 70 ปี เนื่องจากชำระได้เพียงดอกเบี้ยและความท้าทายสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรไทย ทั้งที่เป็นประเทศที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 ของโลก และอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากเวียดนาม แต่ชาวนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศ กลับมีภาระหนี้สิน
การประกาศพักนี้ของรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ครั้งนี้ต่างจาก 13 ครั้งที่ผ่านมาเพราะจะไม่ใช่แค่การพักหนี้ โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่มีหนี้ 300,000 เป็นเวลา 3 ปีเท่านั้น แต่จะมีการเข้าไปช่วยฟื้นฟูเกษตรกรด้วย เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้สามารถแก้ปัญหาให้หนี้สินได้อย่างยั่งยืน เมื่อออกจากโครงการไปแล้วมีความสามารถในการชำระหนี้ต่อเนื่องจนครบ และรักษาวินัยทางการเงินได้ดี โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ วงเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในปีแรกตั้งไว้ที่ 11,096 ล้านบาท ลูกหนี้ที่เข้าโครงการจะต้องสมัครใจเข้ารับการพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูการประกอบอาชีพ สามารถขอกู้เพิ่มเติมได้ไม่เกินรายละ 1 แสนบาท เพื่อนำไปประกอบอาชีพ เมื่อพ้นระยะเวลาการพักการชำระหนี้แล้วสามารถกลับมาแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลตั้งงบไว้พัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรอีก 1,000 ล้านบาท
เกษตรกรที่เข้าโครงการจึงต้องสมัครใจทั้ง 2 ส่วนทั้งการพักหนี้ไว้ที่จะทำให้มีเงินมาใช้จ่ายหมุนเวียน ลงทุนเพิ่มเติมโดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องนำเงินมาใช้หนี้ ขณะเดียวกันต้องเข้ารับการพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นแนวทางที่ดี เกษตรกรอาจจะมีอาชีพที่ 2 เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องทำเพียง“อาชีพเกษตรกร” ไม่ว่าจะเป็นการ ค้าขาย หรือรวมตัวกันทำอาชีพอื่นๆ เพิ่มเติมได้ ที่ผ่านมาเกษตรกรบางส่วนใช้เวลาว่างจากฤดูการทำนา ทำไร่ มาขับแท็กซี่ หรือรับจ้างทั่วไป ค้าขายในกรุงเทพฯ และกลับไปการเกษตรตามฤดูกาลส่วนหนึ่งไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง ต้องเช่า และกู้เงินมาลงทุน ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินสะสม
เรามองว่านโยบายการพักหนี้เกษตรกร เป็นเรื่องที่ดี เป็นการยึดระยะเวลาให้คนเป็นหนี้ได้มีเวลา “หายใจ” ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างวินัยทางการเงิน สำหรับกลุ่มที่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามปกติ สร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง มีกลไกที่ทำให้ลูกหนี้ยังเลือกชำระหนี้อย่างมีวินัย ป้องกันไม่ให้เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ เช่น การลดดอกเบี้ยสินเชื่อใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ชำระได้ตามปกติ รวมทั้งพักชำระหนี้เพียงบางส่วน ช่วยให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต่อเนื่อง
และมีมาตรการช่วยให้เกษตรกรทุกกลุ่มให้สามารถชำระหนี้ได้ตามศักยภาพ สามารถเข้าถึงสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพและสามารถชำระคืนได้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถชำระหนี้ไปถึงเงินต้น และลดหนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ช่วยให้เกษตรกรส่วนใหญ่หลุดพื้นจากปัญหาหนี้สินได้ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรได้ตรงจุดมากขึ้น