‘เจโทร’ เตือนนโยบายค่าแรง 400 บาท ดูผลกระทบบริษัทต่างชาติด้วย
‘เจโทร’ ยื่นข้อเสนอรัฐบาลไทย พิจารณาให้รอบคอบ ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ดูผลกระทบทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย
การปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ภายในปี 2570 เป็นนโยบายพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ผลักดันโดยจะบริหารเศรษฐกิจให้ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% เพื่อให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
ในระยะแรกรัฐบาลมีเป้าหมายจะปรับค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2566 โดยคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) จะพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดในเดือน ต.ค.2566 และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบในเดือน พ.ย.2566
ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็นวันละ 400 บาท ทั่วประเทศหรือไม่ โดยล่าสุด นายพิพัฒน์ รัฐกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ให้กระทบเอสเอ็มอี และคณะกรรมการไตรภาคีจะเป็นผู้สรุปว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท หรือไม่
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้ทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติจับตานโยบายดังกล่าว รวมถึงบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุน ซึ่งแม้ว่าจะมีการจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
นายจุนอิชิโร คุโรดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพ) กล่าวว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำไทยว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ทั้งเอกชนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเพื่อให้ไทยยังสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ในภูมิภาค
“เราคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างแรงงานฝีมือขั้นสูงให้พร้อมรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต”
นอกจากนี้ แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลดความเสี่ยงโดยการกระจายบทบาทการผลิตไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเปิดโรงงานเฟสใหม่ของมูราตะได้ตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้นของไทยและญี่ปุ่น และการเดินหน้าร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมสำหรับอนาคต
ขณะที่การลงทุนของมูราตะในภาคเหนือของประเทศไทยจะเป็นการบริหารความเสี่ยงซัพพลายเชน รวมทั้งเป็นการเร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบรับความต้องการของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว ซึ่งเจโทร กรุงเทพฯ พร้อมที่จะสนับสนุนให้นักลงทุนญี่ปุ่นในไทยขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตให้พร้อมรับเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่เหมือนกับที่มูราตะตัดสินใจขยายการผลิตที่มีเทคโนโลยีใหม่ในไทย
รวมทั้งเชิญนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สนใจ อาทิ การแพทย์ เกษตร และกลุ่มสตาร์ทอัป