ส.อ.ท.ห่วงน้ำท่วมดันราคาสินค้า สวนทางมาตรการลดค่าครองชีพ
ส.อ.ท. รับห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ กระทบราคาพืชผลทางการเกษตรและราคาสินค้าเพิ่มขึ้น สวนทางมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ขณะที่ความต้องการน้ำในอีอีซีคาดเพิ่มขึ้นอีก 10-20% รับการลงทุนใหม่
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์น้ำที่เริ่มท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งหากกินระยะเวลานานก็จะสร้างความเสียหายให้กับพืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สินบ้านเรือนของประชาชนโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการท่องเที่ยวด้วยโดยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอาจทำให้เกิดการขาดแคลนสินค้าต่างๆ จะยิ่งผลักดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ซึ่งจะสวนทางกับนโยบายดูแลราคาสินค้าให้ลดลงของรัฐบาล
ทั้งนี้ภาคเอกชนได้วางแผนการรับมือเบื้องต้นโดยการเตรียมปรับแผนเส้นทางขนส่งสินค้า ทั้งทางรางและ ทางน้ำ หากกรณีน้ำท่วมรุนแรงจะกระทบเส้นทางขนส่งทางถนน
ขณะเดียวกัน ส.อ.ท. โดยสถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ได้ส่งทีมลงสำรวจเก็บข้อมูลความต้องการใช้น้ำในแต่ละจังหวัด นำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัด เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหนักของประเทศ โดยได้ดำเนินการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2564 ของแต่ละอุตสาหกรรมซึ่งมีปริมาณความจ้องการใช้น้ำต่างกัน
ทั้งนี้ จากแนวโน้มการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตและการเข้ามาลงทุนคาดว่าจะทำให้พื้นที่อีอีซีมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น10-20% จากปี 2561 โดยเฉพาะอุตสาหกรรม อิเล็กทรอนิกส์ เกษตรแปรรูปและอาหารที่ต้องการใช้น้ำปริมาณมาก จึงต้องเร่งเตรียมรองรับ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวจะขยายตัวมากขึ้น
โดยการเก็บข้อมูลสำรวจคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 และจะนำข้อมูลเชื่อมระบบกับคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์บริหารระยะยาวต่อไป
ส่วนกรณีที่รัฐบาลประกาศลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย งวด ก.ย.- ธ.ค . 66 เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรม นายเกรียงไกร ระบุว่า อยากรัฐบาลรีบเร่งพิจารณา เนื่องจากบางโรงงานได้ปรับสัญญาซื้อขายสินค้า ตามต้นทุนที่ลดลงเพราะต่างชาติก็ทราบข่าวการลดต้นทุนค่าไฟจึงมีการทวงถามมายังผู้ประกอบการไทยด้วย จึงต้องทำสัญญาซื้อขายใหม่ตามต้นทุนที่ลดลง หากการพิจารณาลดค่าไฟฟ้าล่าช้าออกไป หรือ ไม่เป็นไปตามนโยบาย ยอมรับว่าจะมีผลต่อเอกชนอย่างมาก ที่ต้องแบกภาระต้นทุนไว้เอง
ส่วนแนวทางการดูแลค่าไฟฟ้าในระยะยาว ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลวางแผนปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าทั้งระบบ โดยเฉพาะต้นทุนจากการจ่ายค่าความพร้อมจ่ายที่เป็นภาระต้นทุนที่สูง จึงอยากให้ปรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการและปริมาณ อย่างเหมาะสม