จุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

จุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ปัญหาในประเทศเรามีมากและผ่านมาหนึ่งเดือน รัฐบาลชุดนี้ก็แสดงความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาของประเทศ เร่งออกมาตรการแบบ quick-win เพื่อดูแลค่าครองชีพและรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เช่น ภาคท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม การตอบรับและความรู้สึกของคนทําธุรกิจและประชาชนทั่วไปต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ดี ส่วนหนึ่งเพราะห่วงที่รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงินดิจิตอลหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศมาก เป็นความห่วงใยที่มีเหตุมีผล และเป็นความห่วงใยที่ผมเห็นด้วย

บทความวันนี้เขียนเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลในแง่การดําเนินนโยบายสาธารณะ ซึ่งจุดเริ่มต้นสำคัญคือการตั้งโจทย์ให้ถูกว่าปัญหาที่ควรแก้คืออะไร

เพราะถ้าตั้งโจทย์ผิด มาตรการแก้ไขต่างๆ ที่มีตามมาก็จะผิด ปัญหาที่มีอยู่ก็แก้ไม่ได้ ประชาชนผิดหวัง ผู้ทํานโยบายจึงต้องตระหนักความสำคัญของการตั้งโจทย์ ว่าปัญหาที่ต้องการแก้คืออะไร เพื่อให้เกิดนโยบายและมาตรการที่ถูกต้องที่จะแก้ปัญหา นำไปสู่การใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจของประเทศที่มีประสิทธิภาพ

ย้อนกลับช่วงก่อนเลือกตั้ง ชัดเจนว่า สิ่งที่ประชาชนห่วงใยและมองว่าเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องแก้ไขมีสามเรื่อง หนึ่ง ปัญหาปากท้อง สอง ปัญหาความไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะในการบังคับใช้กฎหมาย สาม การทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ

สามเรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญจริงๆ ของประเทศเราที่กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนและเหนี่ยวรั้งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลที่เข้ามาทําหน้าที่ต้องแก้ไข

ในส่วนของเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องสำคัญทั้งก่อนเลือกตั้งและปัจจุบัน ปัญหาปากท้องคือประชาชนมีรายได้ไม่พอรายจ่ายและไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่ควรมีได้ เช่น สาธารณสุข

 

จุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มด้วยความเข้าใจว่า ทําไมคนส่วนใหญ่มีรายได้ไม่พอรายจ่าย สาเหตุอยู่ที่ไหน เป็นปัญหาการหารายได้ ไม่มีงานทํา ไม่มีงานที่ดีทํา หรือปัญหาของแพง เป็นเหมือนกันทุกกลุ่มทุกพื้นที่ของประเทศหรือไม่ และใครที่ไหนมีปัญหามากสุด

นี่คือสิ่งที่ต้องรู้ในการทํานโยบายเพื่อออกแบบมาตรการแก้ไขที่ถูกต้องและตรงจุด

โดยทั่วไป ปัญหาปากท้องแก้ได้สามทาง หนึ่ง ทําให้คนมีงานทํามีรายได้ สอง สร้างภาวะแวดล้อมให้ภาคธุรกิจลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้เกิดการจ้างงาน สาม ดูแลอัตราเงินเฟ้อให้ตํ่า สินค้าไม่แพง

ซึ่งวิธีดีสุดคือ การแข่งขันและรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ

ในสามวิธีนี้ วิธีที่จะสร้างผลหรือ impact มากสุดต่อการเพิ่มรายได้ของประชาชนคือการสร้างงาน ให้คนในประเทศมีงานทําหรือมีงานที่ดีทํา

การมีงานทำหรือมีการประกอบอาชีพจะทําให้ประชาชนมีรายได้ที่มาจากความสามารถของตนเอง เป็นรายได้ที่ต่อเนื่องซึ่งจะดีต่อการใช้จ่ายและเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลสามารถทําได้หลายรูปแบบเพื่อให้คนในประเทศมีงานทําหรือประกอบกิจการตามทักษะที่มี เช่น

หนึ่ง สร้างโครงการสาธารณะ (Public work) ขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ขาดทักษะหรือมีทักษะแรงงานตํ่าและต้องการทํางานมีงานทำ มีรายได้รายวันจากการทำงานที่จะใช้จ่ายซึ่งเศรษฐกิจจะได้ประโยชน์ ทั้งจากเงินที่ใช้จ่ายและผลงานในโครงการสาธารณะที่เกิดขึ้น

แน่นอนโครงการเช่นนี้ไม่ง่ายในทางปฏิบัติเหมือนเซ็นเช็คแจกเงิน แต่จะมีผลอย่างมหาศาลต่อการแก้ปัญหาปากท้องและแก้ปัญหาการพัฒนาประเทศถ้าสามารถออกแบบโครงการสาธารณะได้ดี

สอง รัฐบาลสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจของประเทศลงทุนในประเทศเพื่อให้เกิดการจ้างงาน ให้คนในประเทศมีรายได้มีงานที่ดีทำ

ต้องยอมรับว่าสาเหตุสำคัญที่การขยายตัวของเศรษฐกิจเราลดลงมากหลังวิกฤติปี 2540 ก็เพราะภาคธุรกิจไม่ลงทุน ซึ่งตรงข้ามกับความมั่งคั่งที่ภาคธุรกิจไทยมีและการขยายการลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศ

เป็นโจทย์ที่รัฐบาลตัองเร่งหาทางออก ให้ธุรกิจไทยไต่บันไดนวัตกรรมเพิ่มความสามารถในการแข่งขันไปสู่ระดับการผลิตและการสร้างรายได้ที่สูงขึ้นที่คนในประเทศจะได้ประโยชน์

จุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

รวมถึงปลดข้อจำกัดเรื่องกฏระเบียบ การแข่งขัน และการเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเติบโต เป็นฐานประกอบอาชีพและสร้างรายได้ของคนตัวเล็กและคนรุ่นใหม่ นี่คือสิ่งที่ควรทำ

สาม รัฐบาลร่วมกับภาคธุรกิจและภาควิชาการจัดโครงการ Upskill Reskill ระดับประเทศ เป็นโครงการต่อเนื่องที่จะเพิ่มทักษะความรู้และแนวปฏิบัติที่ประสพความสำเร็จให้กับแรงงานที่ทํางานอยู่ นักศึกษาที่จบใหม่ และผู้ประกอบธุรกิจ

เพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานของประเทศให้สามารถทํางานในระดับที่สูงขึ้นเพื่อเปลี่ยนไปสู่งานที่มั่นคงและมีรายได้ดีขึ้น ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ในการบริหารจัดการที่จะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มการผลิต ลดต้นทุน และสร้างรายได้

ทั้งหมดจะทำให้ผลิตภาพ (Productivity) แรงงานของประเทศสูงขึ้น และเมื่อความสามารถของคนในประเทศมีมากขึ้น กลไกตลาดและการแข่งขันก็จะปลดปล่อยศักยภาพของประเทศที่ซ่อนอยู่ออกมาให้เห็น ไม่ว่าจะในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ ทําให้เศรษฐกิจประเทศเติบโต

นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่รัฐบาลสามารถทําได้ในแง่นโยบาย ที่จะเพิ่มรายได้ให้กับคนในประเทศ เป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องที่เป็นระบบและถาวร ไม่ใช่แจกเงินเป็นครั้งคราว

เน้นที่ต้นเหตุของปัญหาให้ประชาชนมีงานทำ มีโอกาสที่จะมีงานที่ดีทํา และประกอบอาชีพได้ตามความสามารถ แน่นอนจะมีคนอีกกลุ่มที่จะไม่มีโอกาสเหล่านี้ เพราะอยู่ในวัยชรา มีปัญหาสุขภาพ และหรือยากจน นี่คือกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ จากรัฐบาลในแง่เงินช่วยเหลือ

ชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นของแก้ปัญหาคือการเข้าใจปัญหา ตั้งโจทย์ให้ถูก และมีข้อมูลที่บอกได้ว่าข้อเท็จจริงหรือสถานการณ์ขณะนี้เป็นอย่างไร ใครเดือนร้อนสุด ช่องว่างหลักของการไม่มีรายได้ของคนในประเทศอยู่ตรงไหน อะไรคือปัญหาใหญ่ เพื่อเลือกนโยบายแก้ปัญหาที่ตรงกับปัญหา

จุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

ในการเริ่มต้น คําแนะนำของผมคือรัฐบาลใช้ประโยชน์ข้อมูลจากสํามะโนประชากรปี 2566 เพื่อให้เข้าใจสภาวะสังคมไทยในปัจจุบัน

และถ้ายังหาคำตอบไม่ได้ ขอแนะนำให้ทําสํามะโนประชากรฉบับย่อเพิ่มเติม เจาะจงไปที่เรื่องปัญหาปากท้อง การมีงานทํา ช่องว่างของการไม่มีรายได้ว่าอยู่ตรงไหน ใครมีปัญหามากสุด และใครเป็นกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากสุด

ข้อมูลเหล่านี้สามารถทําได้เร็วโดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารปัจจุบัน นํามาวิเคราะห์โดยเครื่องมือสมัยใหม่ เช่น Big Data เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่ประเทศมี และออกแบบการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

นโยบายสาธารณะคือการแก้ปัญหา นโยบายสาธารณะที่ดีคือการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จ

จุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]