การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน (ตอน 3) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนก่อนหน้า ปัญหาเศรษฐกิจจีนไม่ใช่เกิดจากการระบาดของ COVID-19 เพียงอย่างเดียว แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังเป็นปัญหาใหญ่
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศจีนในอดีต 40 ปีที่ผ่านมานั้น ส่วนสำคัญมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของภาคอสังหาริมทรัพย์ ขับเคลื่อนโดยการไหลเข้ามาในเมืองใหญ่ของประชากรจีนเกือบ 800 ล้านคน ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนสูงถึง 26% ของจีดีพี
ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานั้น ราคาบ้านจึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมุ่งเน้นการลงทุนสินทรัพย์ครัวเรือนเข้าไปในส่วนนี้ (ซื้อบ้านหลังที่ 2,3 ฯลฯ) และผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์เอง ก็กล้าที่จะกู้ยืมเงินจำนวนมากมาแข่งขันกันสร้างบ้านเพื่อขายให้กับประชาชน
นอกจากนั้น รัฐบาลท้องถิ่นก็ได้ประโยชน์จากการขายที่ดินและการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างมากมาย
“ฟองสบู่” ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ดูเสมือนว่ากำลัง “แตก” นั้น มีขนาดใหญ่มาก เช่น หนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นประเมินว่าเท่ากับ 48% ของจีดีพี หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่อยู่ในนิติบุคคลเฉพาะกิจ (LGFV) มีอีกประมาณ 50% ของจีดีพี (การประเมินของไอเอ็มเอฟ)
และยังมีภาคการเงินเงา (shadow banking) ที่ระดมเงินของคนรวยไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์อีกประมาณ 16% ของจีดีพี รวมทั้งสิ้นหนี้สินดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 114% ของจีดีพี
หนี้มูลค่าจำนวนมากที่คุณภาพหนี้น่าจะกำลังถดถอยลงนั้น ย่อมจะทำความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อย่างมาก
ทำให้ประชาชนรู้สึกยากจนลง (negative wealth effect) และทำให้ขาดความมั่นใจ ไม่ต้องการใช้เงิน แต่อยากเก็บเงินสดเอาไว้ใกล้ตัวมากกว่า
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การประเมินว่าปัจจุบันจีน มีบ้านและคอนโดที่สร้างเสร็จแล้ว แต่รอการขายมากถึง 4 ล้านหลัง สต๊อกบ้านรอขายนั้น มีประมาณเท่ากับความต้องการซื้อบ้านถึง 20 เดือน
โดยบ้านในเมืองใหญ่มีสต๊อกส่วนเกินไม่มากนัก (เท่ากับ 7 เดือน) แต่สำหรับเมืองขนาดเล็ก (3rd tier cities) นั้น มีสต็อกรอขายมากกว่า 20 เดือนของปริมาณการซื้อ (ปกติควรมีสต๊อกประมาณ 3 เดือนของปริมาณความต้องการ)
การที่จำนวนประชากรของจีนกำลังปรับตัวลดลง โดยเฉพาะประชากรที่อยู่ในวัยทำงาน ทำให้ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ความต้องการบ้านที่อยู่ทั้งหมดในเมืองเล็ก (3rd tier cities) นั้น จะลดลงประมาณ 4.5% ในช่วงที่ 2022-2035
ในขณะที่ความต้องการบ้านที่อยู่ทั้งหมดในเมืองใหญ่ (Tier 1 cities) และเมืองรอง (Tier 2 cities) นั้นจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
ประเด็นสำคัญที่ตามมาคือ การพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีนนั้นควรจะทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งผมได้พยายามรวบรวมแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีประมาณ 4 แนวทางดังนี้
1.แนวคิดแบบ Keynes จะต้องใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยมองว่า นโยบายการเงินคือการปรับลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะเป็นไปได้ว่าจะเผชิญกับภาวะกับดักสภาพคล่อง (liquidity trap)
คือลดดอกเบี้ยลงไปแล้ว แต่ประชาชนและผู้ประกอบการก็ยังไม่ยอมใช้จ่ายอยู่ดีเพราะขาดความมั่นใจ ทำให้ต้องหันมาพึ่งพาการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางหรือนโยบายการคลังเพื่อขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
2.แนวคิดของ Prof Ken Rogoff (ผู้เขียนหนังสือ This Time is Different ที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจของโลกในช่วง 800 ปีที่ผ่านมา) มองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับปัญหาหนี้เสียในภาคการเงินที่กว้างขวางนั้น เป็นผลพวงจากวิกฤติการเงินและภาวะถดถอยที่เริ่มต้นที่สหรัฐเมื่อปี 2008 และลามต่อเนื่องไปที่ยุโรปเมื่อปี 2014 และลามต่อมาอีกที่จีนในปี 2022
โดยกล่าวว่า “I fear this will be the 3rd leg of the global debt super cycle” ซึ่งจะไม่ดีเลยสำหรับเอเชีย ทำให้เอเชียดึงเงินกลับเข้าประเทศ ทำให้เงินเฟ้อและดอกเบี้ยของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนั้น เศรษฐกิจจีนที่ความตกต่ำเกิดจากวิกฤติทางการเงิน (financial crisis) นั้นจะฟื้นตัวช้ากว่าปกติ
โดยไอเอ็มเอฟประเมินจากข้อมูลในอดีตว่า การถดถอยที่ไม่เกิดจากวิกฤติทางการเงินนั้น จะยาวนานประมาณ 10 เดือน และใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 9 เดือน แต่กรณีที่มีวิกฤติทางการเงินนั้น ภาวะถดถอยจะมีความยาวนานประมาณ 17 เดือนและการฟื้นตัวจะใช้เวลาใกล้เคียงกัน
3.แนวคิด Balance Sheet Recession ของ Richard Koo หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Nomura Research Institute ที่มองว่า จีนมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับภาวะ Balance Sheet Recession เช่นที่ได้เกิดแล้วที่ญี่ปุ่น และที่สหรัฐอเมริกา
แนวคิดนี้วิเคราะห์ว่า ภาคธุรกิจและภาคประชาชนกำลังเผชิญปัญหางบดุลที่มูลค่าสินทรัพย์ตกต่ำลงอย่างมาก ในขณะที่หนี้สินไม่ได้ลดลงตามไป
เมื่ออยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว ทุกฝ่ายจะพยายามออมมากขึ้น การบริโภคและการลงทุนจึงลดลงอย่างมาก เศรษฐกิจก็จะฝืดเคืองไม่สามารถฟื้นตัวได้เป็นเวลานานนับสิบปี เช่นที่เกิดขึ้นแล้วที่ญี่ปุ่น
ในที่สุดรัฐบาลจึงต้องยอมขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล (เพิ่มหนี้สาธารณะ) และต้องกดดอกเบี้ยให้เหลือศูนย์เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ดังที่เห็นญี่ปุ่นกำลังทำอยู่ในขณะนี้
Adam Posen (ประธานของสถาบัน Peterson Institute for International Economics) วิเคราะห์ในเชิงเศรษฐกิจการเมืองว่า การที่เศรษฐกิจจีนไม่สามารถฟื้นตัวได้นั้น
เป็นเพราะพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายพื้นฐานครั้งใหญ่ โดยประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง จากนโยบายหลักของผู้นำ เติ้ง เสี่ยว ผิง ที่มีมาต่อเนื่องระหว่างปี 1978 ถึง ช่วงก่อนโควิด (ประมาณ 2018 เป็นเวลาต่อเนื่องกว่า 40 ปี)
คือนโยบายที่ พคจ. ยอมให้ประชาชนทำมาหากินได้อย่างเสรีและไร้ปัญหา ตราบใดที่หลีกเลี่ยงการเมือง (no politics, no problem) แต่ประชาชนจีนมองเห็นแล้วว่า นโยบายดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้วในช่วงการระบาดของ COVID-19
โดยประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง สั่งให้รัฐบาล ปิดเมือง ปิดประเทศและออกคำสั่งควบคุมทุกส่วนของการดำเนินชีวิตและการทำมาหากินของประชาชน อย่างเบ็ดเสร็จ ตามอำเภอใจ
ต่อจากนั้น ก็ได้ประกาศใช้นโยบาย common prosperity เข้ามาก้าวก่ายในการทำธุรกิจในภาคต่างๆ ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่ง Adam Posen มองว่า เป็นแนวทางของเผด็จการทุกคน
เช่น ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียและประธานาธิบดีเอร์โดวานของตุรกี ที่รวมศูนย์อำนาจทั้งเศรษฐกิจและการเมืองโดยแทรกแซงในทุกมิติของภาคเอกชน
ผลคือ ภาคเอกชนของจีนจะระมัดระวังและลดความเสี่ยง โดยจะพยายามเก็บเงินเพื่อให้มีสภาพคล่องสูง มากกว่ากล้าเสี่ยงลงทุนในสภาวะที่รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ได้อย่างทันทีทันใด
นอกจากนั้น ประชาชนจีนก็ยังอาจจะพยายามเดินทางออกนอกประเทศและโยกย้ายทรัพย์สินออกนอกประเทศอีกด้วย
จากการประเมินดังกล่าวข้างต้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจึงจะเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งครับ.