อนุชา มุ่งเป้าเกษตรกรไทย สู่มิติใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่ม ดันจีดีพีโต
อนุชา สั่ง มกอช. เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร เปลี่ยนแนวคิดเกษตรกรไทย สู่มิติใหม่ ดันตัวเลขจีดีพีภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะ 21 ปี มกอช. “มุ่งมั่นพัฒนา สินค้าเกษตรไทย ปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืน”
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีเปิดงานวันสถาปนา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ครบรอบ 21 ปี มกอช. ว่า มกอช. เป็นหน่วยงานกลางด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร โดยกำหนด ตรวจสอบรับรอง ควบคุม และส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตร ตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาระหว่างประเทศในการกำหนดมาตรฐาน และแก้ปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งเพื่อให้มีคุณภาพและความปลอดภัย ตามมาตรฐานสากล รวมถึงสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก
ดังนั้น งานด้านมาตรฐาน จึงเป็นอีกหนึ่งงานที่จะช่วยในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลว่าด้วย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้เกษตรกร” เมื่อเกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้นเช่นกัน
“มกอช. เป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานความปลอดภัย เป็นที่ยอมรับ และเพิ่มมูลค่า สำหรับภารกิจและการดำเนินงานของ มกอช. ที่ผ่านมานั้นถือว่าเป็นแนวคิดที่ดีอยู่แล้ว แต่จะต้องเพิ่มการสร้างการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ด้านมาตรฐาน ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ก้าวต่อไปของ มกอช. ต้องกลับมาพิจารณาว่ามีสินค้าเกษตรชนิดใดอีกบ้างที่สามารถเพิ่มตัวเลขจีดีพีภาคเกษตร สร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องลงมาสนับสนุนและให้ความสนใจในเรื่องนี้ โดยสร้างอาชีพเสริมให้เกษตรกรชาวนาได้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มมูลค่าทางผลผลิต และมีกำไรเพิ่มขึ้น ไม่ว่าพืชชนิดใดก็แล้ว แต่ จำเป็นต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับรายได้หลักและถือเป็นกำลังซื้อหลักของประเทศ
ทั้งหมดจึงต้องมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างมูลค่า ปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านการเกษตรของไทย นำไปสู่มิติใหม่ ในการสร้างตัวเลขจีดีพีภาคเกษตรให้สูงขึ้น และส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ มกอช. มีผลงานสำคัญที่ผ่านมาที่เป็นประจักษ์ในหลายด้าน ได้แก่ การประสบความสำเร็จในการเจรจาส่งออกผลมังคุดสดไปญี่ปุ่นโดยไม่ต้องอบไอน้ำ ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้ส่งผลช่วยลดต้นทุนการผลิตและการส่งออกมังคุดของไทย ช่วยคงความสดใหม่และไม่สร้างความเสียหายให้กับผลมังคุดสด อีกทั้งช่วยเพิ่มอายุการเก็บรักษาของมังคุด อีกทั้ง ยังถือว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าตลาดส่งออกให้กับมังคุดของไทยอีกด้วย
นอกจากนี้ มกอช. ยังได้ทำการเปิดตลาดเนื้อเป็ดปรุงสุกจากไทยไปออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเด็นการหารือภายใต้กรอบการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ ด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหาร (SPS Expert Group) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย – ออสเตรเลีย โดยในการเปิดตลาดครั้งนี้จะส่งผลช่วยผู้ประกอบการไทยให้สามารถที่จะส่งออกสินค้าประเภทเนื้อเป็ดปรุงสุกไปออสเตรเลียได้ โดยการส่งออกมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคออสเตรีเลียก็จะมีทางเลือกในการเลือกซื้อและบริโภคสินค้าประเภทเนื้อเป็ดปรุงสุกเพิ่มมากขึ้นด้วยด้วยเช่นกัน
ด้าน นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่าได้ดำเนินงานตามภารกิจหลักตลอด 21 ปี โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เริ่มต้นตั้งแต่ ระดับต้นน้ำ โดย มกอช. ได้มีการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร จำนวนทั้งสิ้น 409 เรื่อง แบ่งเป็น มาตรฐานทั่วไป 400 เรื่อง และมาตรฐานบังคับ 9 เรื่อง มาตรฐานการผลิตยั่งยืน ได้แก่ มาตรฐานการผลิตข้าวยั่งยืน มาตรฐานการผลิตกุ้งทะเลยั่งยืน มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มยั่งยืนโครงการ “แมลง” แหล่งอาหารอนาคต และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการใช้แมลงเป็นแหล่งโปรตีนในอาหาร ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าร่วม จำนวน 50 ราย
นอกจากนี้ ในระดับกลางน้ำ มกอช. ได้มีโครงการและภารกิจที่ทาง มกอช. ได้นำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรนำไปเผยแพร่ ประยุกต์ใช้ รวมถึงการอบรมให้ความรู้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ การดำเนินงานการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน ที่ มกอช. ร่วมกับ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก โครงการพัฒนาระบบบริการภาครัฐ หรือระบบ CAB Service ระบบ TAS-License
และระดับปลายน้ำ มกอช. ได้จัดทำโครงการและภารกิจที่พัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการส่งต่อผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ให้ถึงมือผู้บริโภค ได้แก่ โครงการส่งเสริมการบริโภคและใช้วัตถุดิบสินค้า Q (Q market) โครงการตรวจรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้า Q ประเภทโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) โครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q Restaurant) และ Q Restaurant Premium และเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน – ออนไลน์ DGT Farm เว็บไซต์รวบรวมสินค้าเกษตรที่ได้รับมาตรฐาน กว่า 1,739 รายการ
“สำหรับก้าวต่อไป มกอช. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ คือ การกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่องเพื่อครอบคลุมความต้องการตลาด ที่เปลี่ยนแปลง อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์จิ้งหรีด มาตรฐานโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียน อีกทั้ง มกอช. ยังเล็งเห็นถึงการพัฒนาระบบดิจิทัล อันได้แก่ การรับรองมาตรฐานตรวจรับรอง มุ่งเน้นในการทำให้เป็น Single Platform รวมถึงไปการขยายผลพัฒนาระบบ QR Trace on Cloud และ DGT Farm
ทั้งนี้ มกอช. ยังมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้านมาตรฐาน ทั้ง Q อาสา และบุคลากรในสถาบันการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาระบบ e-learning ด้านมาตรฐาน โดยขยายวิชา เพิ่มเติมจากมาตรฐาน GAP พืชอาหาร และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ไปยังมาตรฐานที่สำคัญอื่น ๆ นอกจากนี้ ภารกิจทางด้านการเจรจา มกอช. ยังคงมุ่งหน้าผลักดันในด้านการเจรจา ให้มีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ ในระดับสากล รวมไปถึงการพัฒนาระบบการอนุญาต การกำกับดูแลการนำเข้าส่งออกตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มกอช. มุ่งมั่นดำเนินการตามภารกิจหลักขององค์กร ให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร”