BOI ไม่ทิ้งค่ายรถญี่ปุ่น ดันไทยศูนย์กลางผลิตรถยนต์สันดาป-EV

BOI ไม่ทิ้งค่ายรถญี่ปุ่น ดันไทยศูนย์กลางผลิตรถยนต์สันดาป-EV

"บีโอไอ" ตั้งเป้าไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถ "อีวี-สันดาป" ไม่ทิ้งค่ายรถญี่ปุ่น เล็งคลอดมาตรการหนุนภายใน 2 เดือน เคาะยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ปี ร่วมนโยบายรัฐบาลใหม่ ดึงลงทุน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย “อีวี บีซีจี อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล และสำนักงานใหญ่” 

การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ครั้งแรกของรัฐบาล ซึ่งมีโดยมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และได้พิจารณายุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (2567-2570) โดยจะเป็นการโฟกัสการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม

รวมทั้งได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งได้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของบริษัทจีนที่มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า แผนการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ บีโอไอจะดำเนินการควบคู่กันระหว่างเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) และยานยนต์ไฟฟ้า ตามแนวทางที่เหมาะสมมากที่สุด

ทั้งนี้ เป้าหมายของไทย คือ การจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์เป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนและอันดับ 10 ของโลก โดยภายในปี 2030 ให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30% ขณะที่อีก 70% เป็นการผลิตรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ปลั๊กอินไฮบริด และไฮบริด ที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งซัพพลายเชนของรถอีวีจะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว โดยบีโอไอจะเร่งสนับสนุน 2 เรื่อง ได้แก่

1.ทำให้ซัพพลายเออร์ในประเทศเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอีวีให้ได้มากที่สุด โดยการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยได้พบกับค่ายรถที่เข้ามาลงทุนในไทย โดยจัดเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ รวมทั้งแบบเจาะจงเป็นรายบริษัท

2.ดึงการลงทุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของอีวีที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น แบตเตอรี่ ให้เกิดการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้ในอนาคตอันใกล้ไทยจะสามารถผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ได้ภายในประเทศ

เปิดกว้างดึงลงทุน EV ทุกค่าย

นายนฤตม์ กล่าวว่า การกระตุ้นจากเทคโนโลยีเดิมไปสู่ EV นั้น บีโอไอค่อนข้างเปิดกว้างและรับฟังทุกค่าย โดยมุ่งหวังจะนำมาออกแบบมาตรการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ และมาหารือกับรัฐบาล รวมถึงหน่วยงาทนที่เกี่ยวข้อง

“ปัจจุบันบีโอไอมีการหารือกับทุกค่ายของทุกประเทศ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการผลักดันให้ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของโลก โดยมีเป้าหมายให้ไทยที่ 1 ในอาเซียน และติด 1 ใน 10 ของโลกทุกอุตสาหกรรม โดยเวลาไปพบกับบริษัทต่างชาตินอกจากชวนมาลงทุนโรงงานผลิตในไทยแล้ว ช่วงหลังจะชวนให้มีการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย รวมถึงมีศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เกิดผลกับไทยมากกว่าโรงงานผลิตอย่างเดียว”

เริ่มผลิต EV ในไทยปี 2567

สำหรับแนวโน้มการลงทุน EV ยังไปได้ดีและคาดว่าจะมีการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการที่บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วส่วนใหญ่กำลังอยู่ในกระบวนการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งสายการผลิตไม่ว่าจะเป็น MG ,NETA ,ฉางอัน,BYD และ AION

โดยในปี 2567 จะเป็นปีที่ค่ายรถส่วนใหญ่เริ่มการผลิต โดยบีโอไอจะเร่งส่งเสริมให้ซัพพลายเชนของ EV ในประเทศมีความเข้มแข็ง รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอีวีตลอดทั้งอีโคซิสเต็ม

BOI ไม่ทิ้งค่ายรถญี่ปุ่น ดันไทยศูนย์กลางผลิตรถยนต์สันดาป-EV

นอกจากนี้ ในการประชุมบีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมโครงการลงทุนรวม 6 โครงการมูลค่า 41,086 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก ของบริษัทฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด มูลค่าลงทุน 8,862 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ปีละ 58,000 คัน และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) ปีละ 36,000 คัน

หารือมาตรการลงทุนรถสันดาป

รายงานข่าวจากบีโอไอ ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้จัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์สันดาป เพื่อให้ไทยยังคงเป็นเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค และเป็นฐานการผลิตสำคัญของบริษัทรถญีุ่ปุ่น โดยหลังจากนี้บีโอไอจะหารือกับค่ายรถยนต์ เพื่อจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งจะมีการนำไปหารือกับบริษัทรถญี่ปุ่นในระหว่างที่นายกรัฐมนตรี เยือนญี่ปุ่นในเดือน ธ.ค.2566 เพื่อเข้าร่วมการประชุม ASEAN-Japan Commemorative Summit 2023

ทั้งนี้บีโอไอจะต้องมีการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมสรรพสามิต รวมทั้งได้เตรียมนัดหารือกับค่ายรถยนต์ทั้งหมด ทั้งค่ายรถยนต์สันดาป ค่ายยานยนต์ไฟฟ้า และค่ายรถยนต์ต่างๆที่มีความสนใจลงทุนในไทยโดยจะมีการหารือและสรุปเป็นนโยบายภายใน 2 เดือน ซึ่งจะมีความชัดเจนก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.นี้

อนุมัติแผนดึงลงทุน 4 ปี

นายนฤตม์ กล่าวว่า บีโอไอ เห็นชอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (2567-2570) โดยเฉพาะการดึงดูดลงทุนใน 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่อุตสาหกรรมกลุ่ม BCG ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัลและสร้างสรรค์ และการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ

ทั้งนี้ บีโอไอจะมุ่งขับเคลื่อน 5 วาระสำคัญเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก ที่มุ่งตอบโจทย์กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ได้แก่ 

1.การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Transformation)

2.การพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี(Technology Development)

3.การพัฒนาและดึงดูดบุคลากรทักษะสูง (Talent Development & Attraction)

4.การส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ (Cluster-based Investment)

5.การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Ease of Investment)

เล็งออกมาตรการชุดใหม่

ทั้งนี้ บีโอไอจะทยอยออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศให้บรรลุเป้าหมายการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมชั้นนำระดับโลก เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น การออกมาตรการสนับสนุนการจัดการด้านคาร์บอนเครดิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ 

มาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของรัฐหรือที่ดำเนินการร่วมกับรัฐไปผลิตต่อยอดในเชิงพาณิชย์ มาตรการส่งเสริมการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและการจ้างงานในภูมิภาคเพื่อกระจายการลงทุนไปสู่พื้นที่ทั่วประเทศ 

“รัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันการลงทุนอย่างมาก เพราะเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยบีโอไอได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อทำงานร่วมกับคณะนายกฯ ในการอำนวยความสะดวกและติดตามการลงทุนของกลุ่มบริษัทที่ไทยเข้าพบและเจรจาระหว่างการไปโรดโชว์ที่สหรัฐ  รวมทั้งบีโอไอจะร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อสร้างมาตรการใหม่ๆ และพัฒนาระบบนิเวศเพื่อยกระดับการลงทุนและพัฒนาระบบนิเวศให้ไทยพร้อมในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมระดับโลก"

โดยในช่วง 2-3 ปีจากนี้ เป็นช่วงที่มีความสำคัญต่อการลงทุนทั่วโลก เพราะมีการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ และเกิดการย้ายฐานการลงทุนมุ่งหน้ามาสู่ภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นซึ่งถือเป็นโอกาสทองของประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์