ยูโอบีแนะ 3 ยุทธศาสตร์'อาหาร-เฮลท์แคร์-อีวี'หนุนเศรษฐกิจไทยโต

ยูโอบีแนะ 3 ยุทธศาสตร์'อาหาร-เฮลท์แคร์-อีวี'หนุนเศรษฐกิจไทยโต

นายเอ็นริโก ทานูวิดจาจา (Enrico Tanuwidjaja) นักเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายวิจัยตลาดและเศรษฐกิจโลก ยูโอบี กรุ๊ป กล่าวถึงแนวโน้มโอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยว่าหลังจากนี้ไปทั้งในปี 2566 และในปีหน้า 2567 เศรษฐโลก เศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงเศรษฐกิจไทยจะชะลอตัวลง

นักเศรษฐศาสตร์ของยูโอบี ระบุว่า เศรษฐกิจจีนนับเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตทางเศรรษฐกิจของไทยและโลกด้วย แม้ว่าการส่งออกของจีนจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ แต่ก็ต้องเจอกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 25% ของจีดีจีน แต่ในด้านดีที่ยังถือเป็นแง่บวกของจีนก็คือ จีนยังคงเดินหน้ายุทธศาสตร์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ด้วย

เศรษฐกิจประเทศไทยนั้นแม้ว่าจะเผชิญแรงต้านแต่ก็จะยังคงฟื้นตัวได้ ทั้งนี้เป็นเพราะไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วหลังจากวิกฤตโควิด-19 ปี ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา โดยได้แรงหนุนควบคู่กันระหว่างการใช้มาตรการทางการเงินและมาตรการทางการคลัง ปีที่แล้วจึงสามารถเร่งเครื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจได้มาก

ส่วนในปีนี้ คาดว่าจะได้แรงหนุนสำคัญจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการออกนโยบายฟรีวีซ่าเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ชาวจีนแทบจะไม่เดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเลยในช่วงครึ่งปีแรก และส่งผลกระทบทำให้การส่งออกในภาคบริการของไทยไม่สามารถฟื้นตัวตามไปด้วย
 

“สำหรับนโยบายรัฐบาลใหม่ของไทยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจนั้น จากมุมมองส่วนตัวแล้ว การสร้างเสถียรภาพในด้านการเมืองและเศรษฐกิจมีความจำเป็นมาก และจนถึงตอนนี้ ผมคิดว่าเศรษฐกิจไทยเปิดกว้างมากขึ้น ไปสู่ภูมิภาคโดยรอบมากขึ้น และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับการผลักดันอีวีทั่วโลก ดังนั้นผมคิดว่ารัฐบาลจะทำผลงานได้ดีและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” นายทานูวิดจาจา กล่าว

สำหรับยุทธศาสตร์การเติบโตที่ประเทศไทยควรมุ่งหน้าไปนั้นหากดูระดับหนี้ของไทยโดยเฉพาะหนี้ภาคครัวเรือนจะเห็นว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก ซึ่งไม่ควรกระตุ้นให้ตัวเลขนี้เพิ่มสูงขึ้นอีกแต่ประเทศไทยยังมีจุดแข็งและโอกาสดีใน 3 ภาคส่วนที่ควรมุ่งหน้าไป คือ

1. การส่งออกอาหาร (Food Export)- จากข้อมูลเชิงเปรียบเทียบในการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร พบว่า ไทยเป็นรายใหญ่ของภูมิภาค มีศักยภาพมากในแง่ของคุณภาพ การรับประกันคุณภาพ และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และยิ่งได้ปัจจัยค่าเงินบาทที่กำลังอ่อนค่า ก็ยิ่งสร้างความได้เปรียบเพิ่มขึ้นด้วย

2. บริการด้านสุขภาพ (Healthcare Services)- “เมดิคัลฮับ” ถือเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของไทยที่เหนือกว่าในแง่ของการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยยังคงทำได้ดีในด้านนี้ และสามารถตอบรับกับสังคมผู้สูงอายุในภูมิภาคที่กำลังขยายตัวขึ้น ขณะที่ปัจจัยค่าเงินบาทอ่อนค่ายังช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดให้ไทยด้วย

3. การส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (Vehicles and Parts Export)- นับเป็นจุดแข็งและโอกาสที่น่าสนใจมากที่สุดของเศรษฐกิจไทย แต่ประเด็นก็คือ ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการร่วมมือเป็นพันธมิตรกันภายในภูมิภาคให้มากขึ้น เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย เพราะอนาคตของการคมนาคมขนส่งไม่ได้อยู่ที่รถยนต์สันดาปอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอร์รี อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีทรัพยากรแร่นิกเกิลเป็นจำนวนมาก ส่วนไทยก็มีศักยภาพสูงในการผลิตรถอีวีและชิ้นส่วนยานยนต์ หากทำให้เข้มแข็งไปพร้อมกันในภูมิภาคได้ เศรษฐกิจไทยก็จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง