“ธรรมนัส”ไฟเขียวที่ดินสปก.22ล้านไร่ แปลงเป็น“โฉนด”แจกเกษตรกรปีใหม่
ธรรมนัส เล็งแปลงโฉนดที่ดิน ส.ป.ก ถือครอง 5 ปี 22 ล้านไร่ 1.6 ล้านราย ถกรายละเอียดอีกครั้ง 24 ต.ค.นี้ ลั่นฉบับแรกต้องเสร็จ 15 ม.ค. 67 เป็นของขวัญปีใหม่ ครบ1 ปี เกษตรกรต้องถือโฉนดครบ 70 จังหวัด
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประธานประชุม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ว่า ได้พิจารณาหลักการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
โดยเห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ คือ 1.การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่ 2. สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด โดยกรณีที่ต้องการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรต้องจะถือครองได้ไม่เกิน 50 ล้านไร่ กรณีทำกิจกรรมด้านปศุสัตว์ถือครองได้ไม่เกิน 100 ไร่
3. ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด 4. สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) และ5. ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ ทั้งนี้ ส.ป.ก. จะเป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างๆ เอง
ยกเกณฑ์กฎหมาย4ฉบับเป็นหลัก
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนโฉนดที่ดินเพื่อเกษตกรรม ทำหน้าที่พิจารณารายละเอียด การเปลี่ยนเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนด หรือเข้าทำประโยชน์ และ คณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายและระเบียบ โดยทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฎหมาย 4 ฉบับ คือ1. พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518
2. ระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน พ.ศ.2564
3. ระเบียบ คปก. ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจาก การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน พ.ศ.2535 และ 2540 และ 4 ระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขการให้กู้ยืมเงินกองทุน การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน. พ.ศ. 2554
ผลสรุปที่ได้จากคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด จะนำไปหารือใน คปก. ในวันที่ 24 ต.ค.นี้อีกครั้ง หากได้รับความเห็นชอบจะสามารถดำเนินกับพื้นที่ที่มีความพร้อมได้ทันที
24 ต.ค.ประชุมสรุปรายละเอียด
โดยโฉนดฉบับแรกจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ม.ค. 2567 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรและ ส.ป.ก. จะดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ในรูปแบบโฉนดที่ดินให้ครอบคลุม 70 จังหวัดภายใน 1 ปี ดังนั้นขั้นตอนการดำเนินงานจะต้องเสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ธ.ค. 2566 นี้
“กรณี ส.ป.ก. 4-01 หากเกษตรกรไม่สามารถทำการเกษตรได้ตามเงื่อนไข ส.ป.ก. มีสิทธิ์ยึดพื้นที่คืน แต่ในกรณีที่เปลี่ยนเป็นโฉนดแล้ว เมื่อทำผิดเงื่อนไขไม่ทำกิจกรรมทางการเกษตร ส.ป.ก. จะมีสิทธิ์ยึดพื้นที่คืนได้อีกหรือไม่ นั้น คปก.จะต้องพิจารณา”
อย่างไรก็ตาม ต้องยึดผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับเป็นหลัก ที่สำคัญการเปลี่ยนเป็นโฉนดครั้งนี้ จะส่งผลให้มูลค่าที่ดิน ส.ป.ก. เพิ่มมากขึ้น โดยเกษตรกรจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างหลากหลาย ทั้งธนาคารที่เป็นของรัฐและเอกชน จากเดิมที่มีเพียงธนาคารรัฐบางแห่งที่ยินยอม และนำมากู้เงินกับกองทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เท่านั้น
เล็งสำรวจนำที่ดินสปก.ไปทำธุรกิจ
สำหรับพื้นที่ ส.ป.ก.4-01 หรือ และพื้นที่ที่ได้รับมอบมาจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ปัจจุบันถูกพัฒนาเป็น
กิจกรรมอื่นๆที่ไม่ใช่เกษตรกร เช่น รีสอร์ท โรงแรม สนามกอล์ฟ เป็นต้น ส.ป.ก. จะสำรวจและจำแนกออกจากพื้นที่เกษตร โดยพิจารณาเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่เหล่านี้อีกครั้ง แต่กรณีที่เป็นพื้นสมบูรณ์อยู่ต้องคืนให้กับกระทรวงทรัพยากรฯ ไป แต่การพิจารณาเปลี่ยนเป็นโฉนด ภายใต้กฎหมายทั้ง 4 ฉบับนั้นจะช่วยคัดกรองการถือครองของกลุ่มนายทุนด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม ยัง เห็นชอบ “โครงการตรวจสอบและดำเนินการกรณีเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินถึงแก่ความตายในเขตปฏิรูปที่ดิน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” วงเงิน 22.5 ล้านบาท เพื่อให้ ส.ป.ก. นำไปใช้จ่ายเพื่อเร่งรัดและติดตามให้ทายาทเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินที่ถึงแก่ความตายมาแจ้งขอรับสิทธิการจัดที่ดินแทนที่ (รับมรดก) ซึ่งยังไม่มาแสดงตนอีก จำนวน 171,434 ราย ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ตามมติ คปก. ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่เห็นชอบให้ขยายระยเวลาออกไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2566