นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าในการประชุม ครม.วันนี้ (16 ต.ค.) มีเรื่องที่น่ายินดีเพราะ ครม.ได้อนุมัติให้ทำการศึกษาเรื่องสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือโครงการ “แลนด์บริดจ์” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการที่จะเชื่อมต่อโลจิสติกส์ทั้งหมดของทั่วโลกได้ ซึ่งเป็นการให้ความมั่นใจของต่างชาติที่จะมาลงทุนและสร้างโรงงานต่างๆ ในประเทศไทย ซึ่งครม.ได้เห็นชอบให้สามารถทำการศึกษาต่อได้
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบในการสานต่อโครงการ แลนด์บริดจ์ซึ่งได้มีการศึกษาโดยกระทรวงคมนาคมมาจากรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม เร่งรัดให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อให้เป็นเมกะโปรเจ็กต์กระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศโดยทั้งนี้ ครม.ได้ให้มีการรับข้อสังเกตของนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ให้ระมัดระวังเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของป่าชายเลนธรรมชาติใน จ.ระนองด้วย
ทั้งนี้โครงการลงทุนแลนด์บริดจ์มีมูลค่าการลงทุนถึงประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดยการลงทุนจะเป็นรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรัฐ (PPP) ประกอบไปด้วยการลงทุน 4 ระยะ ครอบคลุมโครงการท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร และระนอง มอเตอร์เวย์ ท่อขนส่งน้ำมัน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน รองรับการขนส่งสินค้าจากทางเรือจากท่าเรือ 2 ฝั่ง
โดยการลงทุนในแต่ละเฟสของโครงการมีมูลค่าดังนี้
1.ระยะที่ 1 มีการลงทุน 6.09 แสนล้านบาท
2.ระยะที่ 2 มีการลงทุนใช้เงินลงทุน 1.647 แสนล้านบาท
3.ระยะที่ 3 มีการลงทุนวงเงิน 2.28 แสนล้านบาท
และ 4.การลงทุนในระยะที่ 4 ใช้เงินลงทุนประมาณ 8.51 หมื่นล้านบาท
สำหรับระยะเวลาการขับเคลื่อนโครงการนี้หลังจากที่ ครม.เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการแล้วรัฐบาลจะเริ่มจาก โรดโชว์ลงทุนโครงการนี้ในต่างประเทศตั้งแต่เดือน พ.ย.2566 จนถึงเดือนม.ค.2567 จากนั้นรัฐบาลจะเร่งรัดในเรื่องของการทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ การร่างพ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ....
เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งโครงการแลนด์บริดจ์จะอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย ซึ่งเมื่อกฎหมายแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2567 จะมีการตั้งสำนักงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการนี้
หลังจากนั้นขั้นตอนการเวนคืนที่ดินโดยจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน (พ.ร.ฎ.) ในโครงการจะเริ่มในเดือน ม.ค.68 -ธ.ค.69
เมื่อกฎหมายและการตั้งสำนักงานเสร็จแล้ว รัฐบาลจะเริ่มเปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการลงทุนจากเอกชนทั่วโลกในเดือน เม.ย.- มิ.ย. 2568 จากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบรายชื่อผู้ชนะการประมูลในโครงการภายในเดือน ส.ค.2568
และให้เอกชนที่ชนะการประมูลเริ่มก่อสร้างได้ในเดือน ก.ย.2568 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 5 ปี และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในเดือน ต.ค.2573