ถอดรหัสเวทีโลก “ยูเอ็น” ไทยดันเอฟทีเอ ดึงเอฟดีไอไหลกลับ
ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ หรือ UNGA สมัยที่ 78 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่18-23ก.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของไทยได้มีโอกาสพบปะกับนักลงทุนต่างชาติขนาดใหญ่หลายราย พร้อมกับเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย
บทบาทบนเวทีโลกของไทยภายใต้การนำของรัฐบาล “เศรษฐา” มุ่งสานสัมพันธ์มิตรภาพจากทั่วโลกให้ใกล้ชิดมากขึ้น ผ่านข้อตกลงทางการค้า การลงทุน โดยเน้นย้ำให้เร่งเดินหน้าการเจรจา “ข้อตกลงการค้าเสรี” (เอฟทีเอ) เพื่อสร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุน และสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติทราบว่าไทยเปิดรับการลงทุน
ปัจจุบันประเทศไทยมีเอฟทีเอ14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาค ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงที่ไทยมีอยู่ สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตต่อ สิทธิประโยชน์ด้านการส่งออก เช่น กลุ่มสินค้ารถยนต์ ผลไม้สด เครื่องปรับอากาศ จากการลดภาษีศุลกากรเพื่อนำไปจำหน่ายยังประเทศปลายทาง
จากแนวโน้มการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ชี้ให้เห็นว่า การขยายข้อตกลงการค้าเสรีเป็นสิ่งจำเป็น แต่เมื่อพิจารณาเอฟทีเอที่ไทยมีอยู่ พบว่าไทยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศที่ทำเอฟทีเอเพียง 60.9%ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ยังเหลืออีก 39.1% ที่ไทยยังไม่มีเอฟทีเอ จึงมี “ช่องว่าง” ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งเครื่องเจรจา
หากไทยมีเอฟทีเอมากขึ้น ย่อมสร้างแต้มต่อการค้า เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ทำให้การค้าขยายตัว โดยขณะนี้ไทยกำลังเร่งปิดการเจรจาเอฟทีเอที่คั่งค้างอาทิ ไทย-ยูเออี จะเร่งจบภายในปีนี้ ขณะที่ในปี 2567 จะเร่งปิด 3 กรอบ คือ ไทย-เอฟตา ไทย-ศรีลังกา และอาเซียน-แคนาดา ขณะที่จะปิดอีก 1 กรอบ คือ ไทย-อียู ในปี 2568 ถ้าไทยสามารถ “ปิด” เอฟทีเอได้ตามแผน ก็จะทำให้ไทยแซงเวียดนามขึ้นแท่นอันดับ 1 ที่ทำเอฟทีเอมากที่สุดในอาเซียน
ด้านการดึงดูดการลงทุน จากรายงานการลงทุนโลกที่จัดทำโดยอังค์ถัด ชี้ว่ากระแสการลงทุนโลกในปี 2565 มีมูลค่าลดลง 12% จากปีก่อนสาเหตุหลักมาจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ราคาอาหารและพลังงานขยับขึ้น ทั้งนี้ เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่ไหลเข้ามายังประเทศพัฒนาแล้วลดลง 37% แต่เอฟดีไอที่มุ่งสู่กลุ่มอาเซียนกลับเพิ่มขึ้น 5% โดยสิงคโปร์มีเงินไหลเข้ามากที่สุด ตามด้วยอินโดนีเซีย เวียดนามมาเลเซีย ส่วนไทยอยู่อันดับห้า
การไหลกลับของเอฟดีไอสู่อาเซียน อาจสะท้อนความสามารถในการปรับตัวของแต่ละประเทศ อาทิ สิงคโปร์ มีภาคเศรษฐกิจและการเงินที่เข้มแข็ง ขณะที่กฎหมายการลงทุนเอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก อินโดนีเซีย ออกมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและตลาดมีขนาดใหญ่ เวียดนาม มีประชากรวัยแรงงานมาก เป็นฐานผลิตสินค้าตามเทรนด์โลก และใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ อาทิ CPTPP EVFTA อย่างเต็มที่ มาเลเซีย ได้รับการยอมรับด้านการคุ้มครองนักลงทุนรวมถึงการตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ
กลุ่มทุนมักมีแนวทางพิจารณาตัดสินใจลงทุนว่าประเทศที่จะเข้าไปลงทุนมีเอฟทีเออะไรบ้าง เพื่อเป็นแต้มต่อทางการค้า นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงห่วงโซ่อุปทาน สิทธิประโยชน์การลงทุน ระบบกฎหมาย การอำนวยความสะดวกในการลงทุน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน
ในส่วนของไทย ด้วยจุดแข็งการเป็นศูนย์กลางภูมิภาคและฐานการผลิตที่มีความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์เป็นทุนเดิม ประกอบกับการมีพื้นที่อีอีซีรองรับนวัตกรรมใหม่ ตลอดจนความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน หากเสริมจุดแข็งดังกล่าวด้วยการผลักดันเอฟทีเอที่ไม่เคยมีมาก่อนให้มากขึ้น เพื่อขยายตลาดการค้า ก็เชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุนให้ไหลกลับมาได้มากเช่นกัน