CtrlS ดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่สุดในเอเชีย ปักหมุดลงทุน EECd 1.5 หมื่นล้าน

CtrlS ดาต้าเซ็นเตอร์รายใหญ่สุดในเอเชีย ปักหมุดลงทุน EECd 1.5 หมื่นล้าน

สกพอ.เผยความคืบหน้า EECd เตรียมรับทุนต่างชาติเช่าพื้นที่ บริษัท CtrlS Datacenters รายใหญ่สุดในเอเชีย ลงทุน 1.5 หมื่นล้าน รวมทั้งกิจการ Charging Station และรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลัง 
การประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2565 ภายใต้คณะกรรมการบอร์ดชุดใหม่ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการลงนามสัญญาเช่าพื้นที่ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd ประกอบด้วย 

บริษัท CtrlS Datacenters ผู้ประกอบการชั้นนําระดับโลก จากประเทศอินเดีย เช่าพื้นที่ 25 ไร่ ระยะเวลา 50 ปี เพื่อลงทุน Data Center มูลค่าโครงการรวมกว่า 15,000 ล้านบาท รวมทั้งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการฝึกอบรม เกี่ยวกับ Cloud Service โดยมีแผนการเซ็นสัญญาเช่ากับ สกพอ. ภายในเดือนต.ค.2566

 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่าพื้นที่ 5 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี ลงทุนประกอบกิจการ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) โดยจะให้บริการรองรับรถขนส่งขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริม ระบบโลจิสติกส์การขนส่งในพื้นที่ EEC 

บริษัท ALBA จากประเทศเยอรมนี มีความประสงค์เช่าพื้นที่ เพื่อดําเนินโครงการต้นแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม และศูนย์ควบคุมการรีไซเคิล ซากผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการลงทุนโครงการกว่า 1,300 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทได้มีการส่งหนังสือแสดงเจตจํานงความต้องการลงทุน (Letter of Intent) ใน พื้นที่โครงการ EECd วันที่ 24 เม.ย.2566 และมีแผนการลงนามบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ในการสร้างศูนย์ควบคุม และสั่งการด้าน Digital Waste Management ต้นแบบ 

ทั้งนี้ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) หรือ Digital Park Thailand ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในการส่งเสริมการค้าการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาค เพื่อยกระดับ และพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S-Curve Digital Industry) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 

โดย EECd อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่ 700 ไร่ ซึ่งมุ่งเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ให้เกิดการร่วมผลิต และแบ่งปันการใช้ทรัพยากร และโครงสร้างพื้นฐาน (Resource Pooling & Infrastructure Sharing)

การเป็นสนามทดลองนวัตกรรมดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะมีการผ่อนปรนกฎระเบียบที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (Living Lab & Testbed Sandbox) เช่น การทดสอบต้นแบบอุปกรณ์และระบบซอฟต์แวร์ในสภาพแวดล้อมจริงก่อนนำไปใช้งาน

โดยในโครงการจะประกอบด้วย 3 อาคารหลัก คือ

1. อาคาร depa Digital One Stop Service งบก่อสร้าง 20 ล้านบาท อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน และเป็นพื้นที่ทำงานสำหรับดิจิทัลสตาร์ตอัป บริษัทด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์ประสานงานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) สาขาภาคตะวันออก

2. อาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Centre ศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ เป็นพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ และไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ รวบรวมกลุ่มดิจิทัลสตาร์ตอัป เน้นเปิดให้เป็นพื้นที่สมาร์ตสีเขียว งบประมาณก่อสร้าง 110 ล้านบาท บนพื้นที่ 4,500 ตารางเมตร

3. อาคาร Digital Innovation Centre ศูนย์นวัตกรรม งบประมาณก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท บนพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ทดสอบเทคโนโลยี 5G ห้องปฏิบัติการระบบปัญญาประดิษฐ์ Data Center พื้นที่ออกแบบนวัตกรรมไอโอที และระบบอัจฉริยะ (IoT Design Center) พื้นที่ประดิษฐ์ต้นแบบนวัตกรรมไอโอที และพื้นที่ออกแบบ และทดสอบเครื่องกล และหุ่นยนต์

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์