'พลังงาน' เล็งหารือคลังลดภาษี หั่นราคาแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.5 บาท
“พีระพันธุ์” เร่งเสนอ ครม.ใน 31 ต.ค.นี้ เคาะลด “แก๊สโซฮอล์ 91” ลง 2.50 บาท รวม 3 เดือน คาดใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท เล็งหารือคลังลดภาษีเบนซิน พร้อมดัน พ.ร.บ.น้ำมันถูกเพื่อเกษตรกร เข้าสภาฯ ภายในสิ้นปีนี้ พร้อมทบทวนน้ำมันยูโร 5 ไม่ให้เป็นภาระประชาชน
หลังจากที่กระทรวงพลังงานเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อผลักดันการลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน โดยช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ แต่ ครม.ต้องการให้ช่วยเหลือแบบถ้วนหน้า ซึ่งล่าสุดมีแผนที่จะราคาน้ำมันแก๊ซโซฮอลล์ 91 ลิตรละ 2.50 บาท
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มาตรการลดราคาน้ำมันเบนซิน (แก๊สโซฮอล์ 91) ลงลิตรละ 2.50 บาท ภายใต้โครงสร้างราคาน้ำมันปัจจุบัน ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในภาวะที่ราคาน้ำมันต้นทางจนถึงปลายทางนั้นมีราคาที่ต่างกัน สิ่งที่ทำได้ง่ายคือ การปรับลดรายได้ภาครัฐ ถือเป็นการดำเนินการเฉพาะหน้า
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดำเนินการระยะยาวต้องดูว่าสิ่งที่ประกอบปลายทางแต่ละช่วงจะลดได้หรือไม่ และต้องอยู่ภายใต้ความเป็นธรรม ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะลดราคาน้ำมันเบนซินด้วย ถือเป็นนโยบายรัฐบาล และด้วยความโชคดีที่พรรคตนมีนโยบายเหมือนกัน
“วันที่นำเรื่องลดน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 29.94 บาท ถึงวันที่ 31 ธ.ค.2566 โดยลดการจัดเก็บภาษีดีเซลลงลิตรละ 2.50 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องเบนซินนั้นถือว่ายุ่งยาก จึงเอาดีเซลเข้าไปก่อน หลายคนมองว่าไม่เป็นธรรมกับเบนซิน และควรเป็นภาพรวม จึงเห็นว่าเบื้องต้นควรลดราคาเท่ากับดีเซลคือ ลิตรละ 2.50 บาท”
สำหรับกรอบเวลาคงต้องเหมือนน้ำมันดีเซลที่ตรึงราคา 3 เดือน และภายใน 1 สัปดาห์นี้ จะได้ข้อสรุปว่าจะใช้เครื่องมือผ่านการลดภาษีหรือใช้กลไกสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เข้ามาดูแล หรือจะใช้ทั้ง 2 อย่างร่วมกัน ก่อนจะเสนอ ครม.ได้ในสัปดาห์ถัดไป
ทั้งนี้ การที่ช่วยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 91 ก่อน อย่างที่บอกว่าไม่มีทางทำให้ทุกคนได้หมด เหมือนที่เลือกช่วยดีเซลคือ เลือกตัวที่ราคาต่ำสุด แบกรับภาระให้ภาครัฐน้อยสุด และช่วยประชาชนได้ โดยใช้มาตรฐานเดียวกับดีเซลคือ เอามาตรฐานเนื้อน้ำมันราคาต่ำสุดมาลด เพื่อลดภาระรัฐ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ทุกวันนี้จากสถิติที่ตรวจสอบก็ยังมีคนใช้อยู่ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ต้องเลือกว่าอันไหนทำได้ถูกและเร็ว
“ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 หน้าโรงกลั่นถูกที่สุดอยู่ที่ลิตรละ 22.21 บาท และราคาขายปลีก ณ วันที่ 18 ต.ค.2566 อยู่ที่ลิตรละ 37.58 บาท ประกอบกับเป็นน้ำมันที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย อาทิ ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ ใช้มากที่สุด ขณะที่อัตราลิตรละ 2.50 บาท เพราะต้องการให้ลดไม่น้อยกว่าดีเซลที่ ครม.อนุมัติ ไปก่อนหน้านี้ โดยจะลดนาน 3 เดือนเช่นเดียวกับดีเซล”
ร่างกฎหมายคุมค่าการตลาดใหม่
นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายค่าการตลาดน้ำมันเหลือไม่เกินลิตรละ 2 บาท มีข้อติดขัดทางกฎหมายที่ไม่เอื้อให้สั่งการผู้ค้าน้ำมันได้ ดังนั้น จะมีการยกร่างกฎหมายในส่วนนี้ รวมทั้งจะพิจารณากฎหมายในภาพรวมทั้งหมด ล่าสุด ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาแล้ว มีตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นายอธึก อัศวานันท์ เป็นประธาน และมีการประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง กำหนดให้มีรายงานความคืบหน้าทุก 30 วัน
ขณะเดียวกันก ระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อเกษตรกรและชาวประมง เพื่อจัดหาน้ำมันราคาถูกให้กลุ่มเกษตรกรใช้ ในลักษณะคล้ายน้ำมันเขียวของชาวประมง คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆนี้ ส่วนราคาจะถูกลงเช่นเดียวกับน้ำมันเขียวประมง (ถูกกว่าลิตรละ 6 บาท) ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม วงเงินอุดหนุน จำนวนเกษตรกร และสีใดที่เหมาะสม แต่ถูกกว่าราคาขายปลีกทั่วไปแน่นอน โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา โดยยืนยันว่าจะพยายามดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำมันราคาถูกภายในปี 2566 นี้
สำหรับการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 วันที่ 1 ม.ค.2567 ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เนื่องจากจะส่งผลให้ต้นทุนราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 15 สตางค์ต่อลิตร อีกทั้งต้องเทียบเคียงมาตรฐานกับอีกหลายประเทศ เพราะเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียว และน้ำมันเป็นเพียงภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น
คาดต้องอุดหนุน1.5พันล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านลิตรต่อวัน หากคิดอัตราที่ต้องสนับสนุน 2.50 บาทต่อลิตร จะเป็นเงินอุดหนุนอยู่ที่วันละประมาณ 18 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 500 ล้านบาท รวมการช่วยเหลือ 3 เดือนจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท
ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือการลดภาษีน้ำมันเบนซิน ซึ่งจากนโยบายของรัฐบาลที่นายเศรษฐา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย จึงมองว่า การลดภาษีเบนซินร่วมด้วยไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ทั้งนี้ ปัจจุบันน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มีการเรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 5.8 บาทต่อลิตร และเก็บเข้ากองทุนน้ำมันที่ 2.80 บาทต่อลิตร