'ทศพร' ตัดสินใจลาออก ประธาน ปตท. คาด ’ประเสริฐ’ ปลัดพลังงาน นั่งแทน

'ทศพร' ตัดสินใจลาออก ประธาน ปตท. คาด ’ประเสริฐ’ ปลัดพลังงาน นั่งแทน

“ทศพร ศิริสัมพันธ์” ตัดสินใจ ลาออกจากตำแหน่ง ประธาน ปตท. คาด "ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ" ปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งหัวโต๊ะแทน

แหล่งข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท.ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2566 ได้รับทราบการลาออกของนายทศพร และคาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการได้เลือกนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ปตท. แทน โดยจะให้มีผลทันทีหรือไม่นั้น จะต้องรอให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานผลการประชุมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)  

รายงานข่าวระบุว่า ในประชุมคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (หมาชน) วันที่ 19 ต.ค. 2566 ระบุว่า คณะกรรมการ ปตท. ได้มีวาระการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ภายหลังก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะต้องมีการเปลี่ยนประธานกรรมการ และกรรมการ ตามการปรับเปลี่ยนรัฐบาล ทั้งนี้ ก่อนการประชุมวาระพิเศษ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงถึงประเด็นการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ปตท. โดยเฉพาะประธานกรรมการ แต่ก็ไม่มีการนำวาระดังกล่าวเข้าที่ประชุมแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม จากกระแสดังกล่าว ส่งผลให้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ  ปตท. ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ทันที ถึงเรื่อง การตีความข้อบังคับของ ปตท. อย่างเคร่งครัด ตามสำเนาบันทึกข้อความฉบับลงวันที่ 12 ต.ค.2566 ถึงตัวประธานกรรมการ ปตท. อาจมีปัญหากรณีการตีความข้อบังคับของ บริษัทฯ ผิดไปจากที่ได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเคร่งครัด อาจทำให้การกระทำต่าง ๆ ที่เกิดจากการตีความข้อบังคับที่ผิดกฎหมาย เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและต่อเนื่อง 

สำหรับข้อบังคับ ปตท. ข้อ 34 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรว่า ประธานกรรมการ หรือ กรรมการ พ้นจากตำแหน่งเมื่อ
    1. พ้นตามวาระ    
    2. ตาย
    3. ลาออก
    4. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้ออกตามข้อ30
    5. ขาดการประชุมคณะกรรมเกินสาม (3) ครั้งติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมกวร
    6. ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย หรือ ในข้อบังคับนี้ และ
    7.ศาลมีคำสั่งให้ออก

อีกทั้ง หากมีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการโดยพลการ โดยที่ประธานกรรมการไม่ครบวาระตาม ข้อบังคับข้อที่ 34 เป็นการจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับ เจตนาปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 อย่างชัดเจน ผู้ได้รับความเสียหาย ผู้ถือหุ้น อาจร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องได้

ทั้งนี้ นายทศพร จึงขอให้ กลต. นำเรื่องและประเด็นดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ กลต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่และมีคำสั่งให้ ปตท.ปฏิบัติตามข้อบังดับคังกล่าวอย่างเคร่งครัด และหรือมีคำสั่งอื่นใดเพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลมาจากการจงใจตีความข้อบังคับผิดไปจากลายลักษณ์อักษร

ต่อมานางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเลขาธิการ ลงนามแทนเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ส่งหนังสือถึง คณะกรรมการ ปตท. วันที่ 17 ต.ค. 2566 เรื่อง การตีความข้อบังคับของ ปตท. ตามที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับหนังสือร้องเรียน กรณีขอให้สำนักงาน ก.ล.ต. นำเรื่องการตีความข้อบังคับของ ปตท. เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระงับยับยั้งการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผลจากการตีความข้อบังคับที่ผิดไปจากลายลักษณ์อักษรของบริษัทท่านความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

สำนักงาน ก.ล.ต. ขอเรียนว่าคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทท่านต้องปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 89/7 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยต้องดำเนินกิจการของบริษัทด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมาย วัถุประสงค์ และข้อบังคับบริษัท เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวม และหากมีเหตุที่จะต้องตีความข้อบังคับให้พิจารณาตามความประสงค์ในทางสุจริตเป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของข้อบังคับดังกล่าวด้วย

สำหรับ นายทศพร ได้ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. ตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.2565และเคยยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการ ปตท. เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งในประธานกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2565 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2565 โดยระบุว่าเป็นเหตุผลส่วนตัว ท่ามกลางกระแสข่าวถูกแรงกดดันทางการเมืองบีบให้ลาออก แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นขอไม่ให้ลาออก