จับตา "พีระพันธุ์" มอบหมายงานใหญ่ "ประเสริฐ" คุมนโยบาย บอร์ด ปตท. หรือ กฟผ.

จับตา "พีระพันธุ์" มอบหมายงานใหญ่ "ประเสริฐ" คุมนโยบาย บอร์ด ปตท. หรือ กฟผ.

จับตา "พีระพันธุ์" มอบหมายงานใหญ่ให้ "ประเสริฐ" ปลัดกระทรวงพลังงาน นั่งคุมนโยบายสำคัญของ บอร์ด ปตท. หรือ กฟผ.

รายงานข่าวจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท.ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งคาดว่าจะมีผลวันที่ 15 พ.ย. 2566 โดยที่ประชุมได้เลือก นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และกรรมการ ปตท. ขึ้นเป็นประธาน ปตท.แทน โดยจะมีการรายงานผลการประชุมต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต่อไป

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการดำรงตำแหน่งกรรมการบอร์ดของรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงานกับ "กรุงเทพธุรกิจ" เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ว่า ภายหลังนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ท่านเดิมเกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2566 ส่งผลให้ตำแหน่งประธาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ของนายกุลิศ ว่างเว้นไปด้วย อีกทั้งบอร์ด กฟผ. ได้ลาออกยกชุด เพื่อเปิดทางให้รัฐบาลคัดเลือกใหม่

ทั้งนี้ เมื่อตนเข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน จึงจะต้องดูว่าจะนั่งบริหารที่ใด เพราะตามระเบียบแล้วนั่งเป็นกรรมการได้ที่เพียงที่เดียวเท่านั้น เพราะปัจจุบันตนนั่งเป็นกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในวาระการดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งขณะนี้ก็ยังคงนั่งเป็นกรรมการ ปตท. ซึ่งหากต้องนั่งเป็นกรรมการ ที่ปตท. ต่อไป ก็จะต้องหาผู้บริหารที่มีความเหมาะสมไปนั่งเป็นกรรมการที่ กฟผ. ซึ่ง อาจจะเป็นผู้แทนจากกระทรวงพลังงาน หรือจากที่อื่นก็ได้ ที่จะต้องมีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรมไฟฟ้า กฎหมาย ฯลฯ 

"ตนจะต้องเลือกนั่งที่ใดที่หนึ่ง เพราะทั้ง ปตท.และ กฟผ. ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน อีกทั้งยังเป็นคู่ค้าทางธุรกิจร่วมกันโดยเฉพาะการซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ที่ถือว่าเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศทั้งคู่ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน จึงไม่สามารถนั่งควบตำแหน่งกรรมการ 2 ที่ได้ เพราะจะผิดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ ตนจะไปเป็นกรรมการที่ไหน ก็จะต้องอยู่ที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นสมควร ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้หารือกับท่านเลยว่าเห็นเหมาะสมอย่างไร เพราะตอนนี้เรื่องลดค่าน้ำมัน ค่าไฟ ให้ประชาชน และจับตาสงครามอิสราเอล ถือว่าสำคัญกว่า"

 

สำหรับผลดำเนินงานครึ่งปีแรกปี 2566 ของปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้ 1,534,755 ล้านบาท และกำไรสุทธิจำนวน 47,962 ล้านบาท โดย ปตท. คาดรายได้รวมทั้งกลุ่มปี 2566 จะไม่ต่ำกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

ส่วนผลประกอบการปี 2565 บอร์ดปตท. มีมติจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 2 บาท ซึ่งได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 1.30 บาท เมื่อต.ค. 2565 คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 0.70 บาท

โดยกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์รับปันผล 36,144 ล้านบาท จากผลการดำเนินงานของ ปตท. และบริษัทย่อยที่มีกำไรสุทธิในปี 2565 จำนวน 91,175 ล้านบาท พร้อมนำเงินส่งรัฐรวมกลุ่ม ปตท. 86,395 ล้านบาท

ตลอดระยะเวลา 45 ปี ปตท. สนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง และมุ่งจุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน โดยในปี 2566 ปตท. ยังมีแผนลงทุนจำนวน 93,598 ล้านบาท ได้แก่ การก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 โครงการท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง - โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 โครงการ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 

การขยายการลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) รวมถึงจัดตั้งโรงงานแบตเตอรี่และให้บริการเช่าใช้ EV ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม กว่า 1,000 คัน พร้อมขยายสถานีอัดประจุ EV ครอบคลุมทั่วประเทศ กว่า 400 หัวจ่าย ตลอดจนลงทุนในกลุ่มธุรกิจโภชนาการเพื่อสุขภาพ ทั้งการจัดตั้งโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชครบวงจร พร้อมเดินสายการผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปีนี้ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพออกสู่ตลาดภายใต้แบรนด์อินโนบิก

นอกจากนี้ ปตท. เดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมายการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้วยการปลูกป่าเพิ่มเติมโดย ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ให้สำเร็จภายในปี 2573 ซึ่งเมื่อรวมกับพื้นที่ป่าเก่า 1 ล้านไร่ ของ ปตท. แล้ว

ในอนาคตพื้นที่แปลงปลูกป่าของกลุ่ม ปตท. กว่า 3 ล้านไร่ นี้ จะมีสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4.15 ล้านตัน/ปี อีกทั้งยังทำหน้าที่ให้บริการทางนิเวศ (Ecosystem service) เป็นแหล่งต้นน้ำ ส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงช่วยสร้างทุนทางสังคมและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนคิดเป็นมูลค่าหลายล้านบาทต่อปีอีกด้วย