แวดวงพลังงานแนะ 'เทพรัตน์' ถอดใจ ผู้ว่าฯ กฟผ. คุม 'เอ็กโก' ต่อ ลดเสี่ยง-กดดัน
วงในพลังงาน แนะ "เทพรัตน์ เทพพิทักษ์" ถอนตัวจากตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ระบุ นั่งบริหาร "เอ็กโก กรุ๊ป" ต่อแบบสวย ๆ ไม่เจ็บตัว ไม่เสี่ยงโดนคดี ไร้ความกดดัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากรณีที่ คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดรับสมัครผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 16 ระหว่างวันที่ 5 ม.ค.-3 ก.พ. 2566 มีผู้สมัครฯ และเข้ารับการคัดเลือก ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวน 4 ราย คือ
1. นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ ปฏิบัติงานที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่
2. นายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน
3. นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง
4. นางสาวจิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
โดยกรรมการสรรหาฯ ที่มี นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช เป็นประธาน ลงมติเสียงข้างมากเลือกนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ. คนใหม่ เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2566 แล้วเสนอชื่อต่อบอร์ด กฟผ. ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด กฟผ.) โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการ ซึ่งจัดประชุมวาระพิเศษ วันที่ 8 มี.ค. 2566 พร้อมมีมติเลือกนายเทพรัตน์ เป็นผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ เพื่อนำเสนอนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ ได้นำเสนอชื่อเข้าสู่วาระการประชุมครม. วันที่ 2 พ.ค. 2566 ซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการอนุมัติ ดังนั้น เมื่อเป็นรัฐบาลรักษาการ จึงต้องขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือถึงกกต. ถึง 2 ครั้ง เพื่อให้พิจารณามติ ครม. รักษาการ โดย กกต. ให้ความเห็นว่า ให้รอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเหมือนเช่นเคย
ต่อมานายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ออกมาระบุว่า จากการที่อดีตรมว. ได้นำชื่อนายเทพรัตน์ เข้าครม. วันที่ 2 พ.ค. 2566 ซึ่งอยู่ในช่วงการเลือกตั้ง ดังนั้น ครม. จึงอนุมัติแบบมีเงื่อนไข คือ ต้องให้กกต. เห็นชอบด้วย แต่ต่อมา กกต. ได้แจ้งกลับมาว่าไม่เห็นชอบ ซึ่งก็แปลว่า ไม่ผ่าน ต่อมา ครม. ได้ขอให้ กกต.พิจารณาอีกครั้ง ปรากฏว่าเรื่องได้หายเงียบไปจนเลือกตั้งเสร็จ ดังนั้น เมื่อกกต. ไม่เห็นชอบก็ถือว่าไม่ผ่าน ครม.
อีกทั้ง นายพีระพันธุ์ ระบุว่า กกต. ได้ส่งหนังสือกลับมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) วันที่ 6 ก.ย. 2566 ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งมาถึงตนวันที่ 27 ก.ย 2566 จนได้เชิญปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยตีความ และได้คำตอบว่าต้องให้คณะกรรมการ กฟผ. ชุดใหม่ยืนยันรายชื่อ เพื่อนำเสนอ ครม.
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า จากที่ติดตามกระบวนการสรรหาผู้ว่าการ กฟผ. ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน จึงทำให้ใคร ๆ ก็คิดได้ว่า รมว.พลังงาน ทั้งนายสุพัฒนพงษ์ และนายพีระพันธุ์ ไม่ได้อยากได้นายเทพรัตน์ มาเป็นผู้ว่าการ กฟผ. ตั้งแต่ต้น ยิ่งทำให้กระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่มีการนำเสนอว่ามีการวางตัว นายนิทัศน์ เอาไว้น่าจะเป็นเรื่องจริง ดังนั้น ความเห็นส่วนตัวจึงมองว่าตัวนายเทพรัตน์ ก็คงจะเตรียมใจไว้บ้างพอสมควร เพราะถ้ากระบวนการสรรหาฯ ไม่มีวงนอกวงในเข้ามาเกี่ยวข้อง การแต่งตั้งก็คงไม่ลากยาวมาถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ การที่ต้องรอกรรมการ กฟผ. ชุดใหม่เป็นผู้เห็นชอบ ก็ยิ่งกินระยะเวลาการนั่งตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. ของนายเทพรัตน์ ซึ่งขณะนี้ก็อายุเกิน 58 ปี ไปแล้ว การยื้อเวลาก็อาจจะเป็นอีกวิธีที่จะทำให้ระยะยเวลาในการนั่งทำงานลดน้อยลง และหากมีการอนุมัติให้นั่งตำแหน่งจริง ๆ ก็อาจจะไม่พ้นโดนบีบบังคับในโครงการที่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะมีความผิด และส่งผลให้การทำงานในแต่ละวันไม่มีความสุขก็เป็นไปได้
"เขาคงมีตัวจริงเตรียมไว้แล้ว เพราะถ้าไม่มีการวางตัวมาแล้ว ก็คงไม่ปล่อยให้ขั้นตอนลากยาวมาถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ส่วนตัวมองว่านายเทพรัตน์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป อย่างเดิมก็ดีอยู่แล้ว ไม่ควรมาเปลืองตัว เสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง อีกทั้ง การบริหารงานอาจจะไม่มีความสุขและเกิดการกดดันแน่นอน"