‘มาบตาพุด’ หนุนฮับแอลเอ็นจี ปตท.ลุยแผนผู้นำของภูมิภาค
ปัจจุบันรูปแบบการดำเนินธุรกิจพลังงานในหลายประเทศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง หลังมีการตระหนักถึงการลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งถ่านหิน น้ำมัน หรือ ก๊าซธรรมชาติ ก็อาจต้องเปลี่ยนไปในอนาคต
ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตยังคงต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ก๊าซธรรมชาติจะเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เนื่องจากเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.มุ่งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศ ด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการเป็นผู้ให้บริการสถานีรับ เก็บ จ่าย ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวม 2 แห่งในพื้นที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง
ทั้งนี้ ปัจจุบันประทเศไทยมี Regasification Capacity 19 ล้านตันต่อปี โดยกลุ่ม ปตท. ตั้งเป้าในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง LNG Hub และมีปริมาณการค้า LNG ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปีภายในปี 2573
โดย ปตท.ได้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ ที่จะทำงานด้านการตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมการขายในลักษณะนำเข้า LNG แล้วกระจายจำหน่าย LNG ในภูมิภาค เช่น จีนตอนใต้ กัมพูชา ด้วยระบบขนส่งทางรถยนต์ และขนส่งทางเรือขขนาดเล็ก รวมทั้งเร่งขยายการจำหน่าย LNG ไปยังโรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า หรือกลุ่มผู้ประกอบการอื่นๆ เพื่อใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงรูปแบบเดิม
“ขณะนี้ภาพรวมการจำหน่าย LNG เริ่มดีขึ้น รวมถึงราคาเริ่มเข้ามาอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่จะทำธุรกิจแล้ว หลังจากสถานการณ์สงครามที่หนุนให้ราคาก๊าซสูงขึ้นถึง 70-80 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากปกติอยู่ที่ 7-8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ซึ่งจากการที่LNG เป็นเชื้อเพลิงสะอาดและราคาสามารถแข่งขันได้ ประกอบกับทั่วโลกมีแผนลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ จึงเชื่อมั่นว่าความนิยม LNG จะมีเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับหัวใจสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยกลายมาเป็นศูนย์กลาง LNG ประกอบด้วย
1.ความต้องการใช้งานเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ปตท.สามารถใช้ตัวความต้องการนี้ หารือกับผู้ค้าเพื่อหาแหล่งซัพพลายที่จะซื้อเข้ามาในประเทศ
2.โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นคลังจัดเก็บก๊าซ LNG ที่พร้อมและถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะ ท่ารับก็ต้องเป็นท่ารับเฉพาะ ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง ซึ่ง ปตท.มีกำลังการรับ LNG ถึง 19 ล้านตันต่อปี ใหญ่ที่สุดของอาเซียน
นอกจากนี้ ปตท. ยังมีการแผนการขยายธุรกิจจากการนำความเย็นของ LNG จากกระบวนการเปลี่ยนของเหลวเป็นก๊าซ (Regasification) ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่มีคุณค่าในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย อาทิ การทำระบบความเย็นในอาคาร เพาะปลูกดอกไม้และผลไม้เมืองหนาว รวมถึงใช้ในโรงผลิตไฟฟ้า
ทั้งนี้ ล่าสุด ปตท.ได้ซื้อที่ดิน 160 ไร่ ใกล้กับสถานี LNG แห่งที่ 2 ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ เพื่อให้อุตสาหกรรมที่ต้องการใช้ประโยชน์ความเย็นจากการแปรสภาพ LNG เพื่อลดต้นทุนการใช้ไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต โดยมีอยู่ระหว่างการเจรจากับหลายบริษัทที่ให้ความสนใจทั้งโรงผลิตไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ ปิโตรเคมี
ขณะที่แผนพัฒนาโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้น ปตท.ได้ให้ความสำคัญกับโครงการดังกล่าว ซึ่งมองว่าจะเป็นแผนงานสำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจ
สำหรับท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่แผนงานการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือEastern Seaboardโดยเริ่มก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดในปี 2532 ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้พัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมาแล้ว 2 ระยะ
สำหรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2561 ตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก (EEC Project) เพื่อรองรับการเติบโตของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในอนาคตและเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว
นอกจากนี้จะเป็นการรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่รองรับการลงทุนใน EEC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 19 ล้านตันต่อปี
ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมศักยภาพของการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศต่อไปในอนาคต
รวมทั้งเป็นการตอบสนองกับนโยบายการเปิดนำเข้าก๊าซเสรีของรัฐบาลที่ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper License) จากคณะกรรมการกำกับกิจพลังงาน (กกพ.) ซึ่งหลังจากนี้ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนการแข่งขันการนำเข้าอย่างเป็นธรรม
หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า ภาครัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุนให้การแข่งขันเกิดราคาที่เป็นธรรม เมื่อเปิดโอกาสให้แข่งขันเสรีแล้ว เมื่อมีผู้เล่นเข้ามาในระบบมากขึ้น จะทำให้ภาพรวมของราคาก๊าซในประเทศสะท้อนกับความตั้งใจได้ ซึ่งปตท. เองเป็นผู้เล่นในธุรกิจนี้มานาน ก็มั่นใจว่าจะสามารถทำราคาให้ ตรงกับความต้องการของคนไทยได้ดีที่สุด ซึ่งเมื่อมีผู้เข้ามาใช้งานเยอะมากขึ้นก็จะยิ่งทำให้ระบบการปฏิบัติการของคลังมีราคาถูกลง
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีนี้ อาจจะยังมีการนำเข้า LNG ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการ เก็บของคลังที่มีอยู่เพราะต้องยอมรับว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ได้จะเข้ามาเล่นด้วยง่าย ๆ เพราะการจัดหาแหล่งก๊าซที่มีสัญญาระยะยาวนั้นต้องอาศัยความเชื่อใจของคู่ค้าด้วย รวมถึงเรื่องที่น่ากังวลก็คือภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจจะส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงราคาก๊าซให้ผันผวนได้อย่างที่ผ่านมา