'พาณิชย์' เร่งเจรจา FTA ผนึกเอกชน หนุนยอดส่งออกปี 2566 ติดลบน้อยที่สุด
"พาณิชย์" ชูภารกิจสำคัญลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้ประชาชน พร้อมเดินหน้าเจรจา FTA ผนึกเอกชนเดินไปด้วยกัน หนุนส่งออก 3 เดือนสุดท้าย ดันยอดส่งออกทั้งปีติดลบน้อยที่สุดท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เตรียมกำหนด KPI ทูตพาณิชย์
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงาน Thailand CEO ECONMASS Awards 2023 เวทีสัมมนาหัวข้อ “เร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพประชาชน” จัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ คือ ทำของถูกให้แพงและทำของแพงให้ถูก เพื่อดูแลประชาชน โดยอย่างแรกที่จะทำ คือ ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ โดยเครื่องจักรสำคัญคือ การส่งออก จะเห็นว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมายอดการส่งออกกลับมาบวก ซึ่งหากดู 9 เดือนที่ผ่านมา มีการเติบโต 3.8%
อย่างไรก็ตาม จากการที่หน่วยงานต่าง ๆ คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ ซึ่งเฉพาะเดือนก.ย. 2566 บวก 2.1% ดุลการค้าเป็นบวก 2 เดือนติด ถือเป็นสัญญาณที่ดี แม้ว่ายอดส่งออกรวมกว่า 10 เดือนจะติดลบมาโดยตลอด
นอกจากนี้ สิ่งที่อยากให้ดูคือ มูลค่าการส่งออกเดือนส.ค. 2566 อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เดือนก.ย. 2566 ขยับมาอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ หากเทียบกับประเทศส่งออกอื่นในหลายประเทศ ที่ติดลบตลอดมีเพียงประเทศไทยที่เป็นบวก ส่วนเวียดนามเป็นบวกเพียง 1 เดือน แต่ก็เป็นสัญญาณทั่วโลกว่าการส่งออกโดยรวมเริ่มดีขึ้น แต่ปัจจัยที่จะส่งกระทบยังคงเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะภูมิรัฐศาสตร์
"สินค้าเกษตรมีตัวเลขเพิ่มขึ้นตลอดในกลุ่มผลไม้ เช่น มังคุดสด และทุเรียน เป็นเม็ดเงินที่กลับมาถึงรากหญ้า แต่ก็อย่าได้ประมาท สิ่งที่เราทำและใน 3 เดือนที่เหลือของปีนี้จะต้องให้เครดิตภาคเอกชนไทยเก่งและสู้มาตลอดและหาตลาด โดยปัจจัยสำคัญใน 3 เดือนที่เหลือ เป็นเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย จะทำให้ตัวเลขติดลบน้อยที่สุด"
ทั้งนี้ สิ่งที่เน้นย้ำคือจับมือกับเอกชนให้แน่น เดินไปด้วยกันภายใต้สิ่งที่แอบกังวลเล็ก ๆ ที่ควบคุมไม่ได้ เพราะตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. ยังไม่รวมสงครามอิสราเอล เพราะจากการคาดการณ์ในวงที่ยังแคบจะยังพอรับมือไหว อาจจะติดลบน้อยและอาจจะเป็นบวกก็ได้ แต่หากลามปลายก็ไม่มีใครคาดเดาได้
นายกีรติ กล่าวว่า สำหรับคาดการณ์ยอดส่งออกปี 2567 จะโตเท่าไหร่ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องรอสรุปตัวเลขปี 2566 และต้องหารือกับเอกชน ซึ่งมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ตามหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ที่ต้องแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวก เอื้ออำนวยในภาพใหญ่ และต้องทำงานหนักกับปัญหาอุปสรรค และส่งเสริมผลักดันการส่งออก
"เรื่องของการผลักดันเศรษฐกิจ คือการลดค่าใช้จ่ายซึ่งล่าสุดทำผ่านโครงการพาณิชย์สั่งลุย ลดราคาสินค้า ลดค่าครองชีพ ช่วงต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นงานหิน โดยร่วมกับเอกชนเข้าดูแล แม้ว่าข้อเท็จจริงสินค้าจะยังราคาแพง และเราสนับสนุนให้สินค้าถูกลง รัฐบาลพยายามทำทุกทางเพื่อลดต้นทุน เพราะกฎหมายที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกรอบความร่วมมือ ทางทฤษฎีผู้ประกอบการก็ไม่ค่อยมีกำไร แต่ก็ต้องช่วยประชาชน"
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนโฟกัสคือ การหาตลาดใหม่โดยการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ถือเป็นอีกงานที่กระทรวงพาณิชย์ต้องรีบผลักดัน อาทิ เรื่องของภาษีจะต้องพยายามจบให้ได้อย่างเร็วที่สุด ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ดังนั้น จึงค่อนข้างมั่นใจยอดการส่งออก ด้วยปัจจัยหลายอย่างจะต้องฝ่าฟันได้ และภาวนาว่าปัญหาภูมิรัฐศาสตร์จะไม่บานปลาย อีกทั้ง การส่งออกอีก 3 เดือน Momentum กำลังจะกลับมา
ทั้งนี้ โจทย์ใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ คือ การลดค่าใช้จ่าย โดยผ่านแนวคิดการมีลูกหลายคน หลายบ้าน คือ บ้านที่ 1. ผู้ประกอบการ ที่มีหลายอุตสาหกรรม ทั้งต้นน้ำยันปลายน้ำ 2. เกษตรกร ซึ่งมีหลายกลุ่ม และ 3. ประชาชน ที่ต้องดูแล โดยสิ่งที่ยึดหลักมาตลอด คือการบาลานซ์ทุกกลุ่มให้อยู่ร่วมกันได้ เช่น ค่าครองชีพ ราคาสินค้า ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถปฎิเสธได้ว่าเทรนด์ราคาสินค้าเป็นช่วงขาขึ้น จึงต้องทำให้วินทุกกลุ่ม
"FTA เราพยายามขยายความร่วมมือที่มีอยู่ เพราะช่วยเปิดตลาดและสามารถแข่งขันได้ ส่วนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (CEPA) ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เดินหน้าเกือบเสร็จแล้ว เราพยายามผลักดันความร่วมมือทุกฉบับ แต่ต้องคำนึงว่าไม่มีใครได้หมด แต่จะให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมหารือกับเอกชนว่าตรงไหนได้และไม่ได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ช่วยบาลานซ์ตรงนี้ได้เยอะ"
นอกจากนี้ สิ่งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำชับคือ ต้องเปลี่ยนบทบาททูตพาณิชย์ โดยวันที่ 10 พ.ย. 2566 กระทรวงพาณิชย์จะประชุมใหญ่พร้อมกลั่นกรองเรื่องพวกนี้ให้ตกผนึก พร้อมกำหนด KPI ทูตพาณิชย์ รวมถึงทูตกระทรวงการต่างประเทศด้วย ดังนั้น ยืนยันได้ว่า ที่ผ่านมามีการปรับบทบาททูตพาณิชย์มาโดยตลอด เพื่อให้การค้าไทยกับประเทศต่าง ๆ ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย"