“คมนาคม” กางแผนโครงสร้างพื้นฐาน ย้ำเชื่อมั่นลงทุน
“คมนาคม” เร่งขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ระบุเม็ดเงินลงทุนปี 66-67 ไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านทุกโครงการ พร้อมดันแลนด์บริดจ์ยุทธศาสตร์พลิกประเทศ ดึงระบบดิจิทัลสร้างความสะดวกให้ประชาชน มุ่งปรับปรุงคุณภาพและกระจายอำนาจงานบริการ
นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานสัมมนา “Thailand CEO ECONMASS Awards 2023 FAST Forward Better Thailand” ในหัวข้อ “เร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพประชาชน“ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2566 ว่านโยบายรัฐบาลในการช่วยลดค่าครองชีพประชาชนเรื่องแรกที่เป็น Quick Win คือโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดเส้นทางซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว 2 สายชานเมือง (สีแดง และสีม่วง) โดยในระยะต่อไปจะเร่งเจรจากับผู้ให้บริการรถไฟฟ้า 4 รายหลัก ทั้งสายสีเขียว น้ำเงิน ชมพู และเหลือง รวมทั้งบูรณาการเรื่องระบบตั๋วใบเดียว
ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามแผนแม่บทยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เร่งให้มีการใช้อีวีรถสาธารณะ ซึ่งขณะนี้มีใช้งานในพื้นที่กทม.แล้วกว่า 2,000 คัน และจะเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 คันในอีก 3 ปีข้างหน้า รวมถึงจะต่อยอดในการทำรถแท็กซีไฟฟ้าด้วย
นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟฟ้าในพื้นที่กทม. ที่เปิดให้บริการแล้วรวมระยะทางทั้งหมด 375 กิโลเมตร จากแผน 14 เส้นทาง 554 กิโลเมตร ส่วนรถไฟจะขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าจากทางเดี่ยวเป็นรถไฟทางคู่ และต้องเร่งดำเนินการต่อเชื่อมรถไฟสายกรุงเทพไปนครราชสีมา เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะพยายามเร่งแก้ไขเส้นทางถนนที่มีปัญหาและเร่งแก้ปัญหาคอขวดในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษ โดยต่อยอดเส้นทางบ้านแพ้วไปปากท่อ เพื่อแก้ปัญหา และเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์ นครปฐมไปหัวหินและพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเดือนเมือง ท่าอากาศยานแนวชายฝั่งอันดามัน และภาคเหนือตอนบน
รวมไปถึงโครงการแลนบริดจ์ ที่จะเชื่อมทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเป็นระยะทาง 90 กิโลเมตร จากอ่าวอ่างจ.ระนอง-แหลมริ้ว จ.ชุมพร ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นการพลิกยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้การคมนาคมมีทางเลือกมากขึ้น
นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะเร่งขับเคลื่อน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการลงทุน โดยเม็ดเงินลงทุนโครงการต่างๆ ในปี 2566-2567 ไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาทในทุกโครงการ รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ มูลค่า 500,000 ล้านบาท ในระยะ 10 ปี ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์พลิกประเทศ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของโลกทั้งด้านพลังงานและสินค้า รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่จะเติบโต
2.การพัฒนาบริการด้วยระบบดิจิทัล อาทิ แอปพลิเคชั่นการเดินทางที่สามารถคำนวณต้นทุนและเวลาได้ โดยจะกระจายการใช้งานทั้งในกทม.และต่างจังหวัด
3.การปรับปรุงระบบราชการ โดยการกระจายอำนาจ เช่น การต่อภาษีรถยนต์สามารถทำได้ที่บ้าน