โจทย์ใหญ่ EEC เร่งดึงลงทุน 5 คลัสเตอร์ เชื่อมซัพพลายเชนในประเทศ
“อีอีซี” เร่งดึงลงทุน 5 คลัสเตอร์ เชื่อมโยงซัพพลายเชนในประเทศ เร่งออกกฎหมายลูกอำนวยความสะดวกตั้งโรงงาน ออกใบอนุญาต เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจ
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี กล่าวในงานสัมมนา “Thailand CEO ECONMASS Awards 2023 FAST Forward Better Thailand” ในหัวข้อ “เร่งเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพประชาชน“ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2566 ว่า อีอีซีทำหน้าที่หลักในการดึงเม็กเงินลงทุนต่างประเทศเข้ามาในไทยนอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการกระจายเงินลงทุนไปสู่ชุมชนและผู้ประกอบการในประเทศ โดยโจทย์ใหญ่ของอีอีซี คือดูแลอุตสาหกรรม New S-Curve จับรวมเป็น 5 คลัสเตอร์ ได้แก่
1.การแพทย์สุขภาพ จับเทรนด์ที่เรื่องสังคมสูงวัยที่ขยายวงกว้างขึ้น
2.สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ รับโมเมนตัมการย้ายฐานลงทุน โดยอีอีซีเร่งออกแพ็คเกจลงทุนที่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
3.ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาไทยได้ต้อนรับนักลงทุนและค่ายรถอีวีทั้งจีน ยุโรปเกาหลี
4. BCG เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว อาทิ การลงทุนเกี่ยวพลังงานสะอาด การรีไซเคิลแบตเตอรี่
5.บริการ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยแข็งแกร่ง
“โดยอีอีซีจะทำหน้าที่ดึงอุตสาหกรรมที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน และส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนการผลิตในไทย”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโครงการที่เข้ามาขออนุมัติส่งเสริมลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) บางโครงการมีเม็ดเงินลงทุนจริงในระบบน้อยกว่าที่ขอส่งเสริม หรือบางกรณีก็มีความล่าช้าในการลงทุน
ดังนั้นต่อจากนี้ อีอีซี จึงเตรียมออกกฎหมายลูก เพื่อสร้างมาตรการจูงใจนักลงทุนแบบตัดสูท โดยพิจารณาเป็นรายโครงการ สำหรับนักลงทุนที่ให้ประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการอุมัติ อนุญาตประกอบการตั้งโรงงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้การลงทุนเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ ในการไปดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ อีอีซียังเสนอจุดแข็งของไทยที่มีความพร้อมเรื่องอีโคซิสเต็มในการอยู่อาศัยการทำงานและท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นแม่เหล็กที่สามารถดึงดูดให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีความสามารถ (Talents) เข้ามาทำงานได้ด้วย