‘น้ำตาล’ ไม่ใช่สินค้าควบคุม ย้อนรอย 5 ปี ลอยตัวราคาในประเทศ
อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ครั้งใหญ่ ซึ่งมีผลทำให้การน้ำตาลทรายไม่ใช่สินค้าควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์
การปรับโครงสร้างดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ถูกประเทศบราซิล ผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าสินค้าน้ำตาลของประเทศไทยมีการอุดหนุนการส่งออก โดยมีการจ่ายเงินเพิ่มให้กับชาวไร่ในบางปีผ่านกลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
กรุงเทพธุรกิจได้รวบรวมประเด็นที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ.2559-2564 แทนโครงสร้างเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประเด็น ดังนี้
1.การลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ
ในอดีตน้ำตาลทรายถูกกำหนดเป็นสินค้าควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ โดยจะมีการประกาศราคาน้ำตาลรายขายปลีกในแต่จะจังหวัด โดยราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 23-24 บาท และมีบทลงโทษสำหรับการจำหน่ายน้ำตาลเกินราคา ผลจากการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทำให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในเดือน ม.ค.2561
การลอยตัวดังกล่าวทำให้ผู้ค้าปลีกไม่ถูกควบคุมราคาน้ำตาลทรายขาว แต่การตั้งราคาขายปลีกยังคงตั้งไม่ให้ราคาถูกกว่าตลาดมากนัก ยกเว้นน้ำตาลประเภทอื่นที่ตั้งราคาสูง เช่น น้ำตาลออแกนิก
ทั้งนี้ การปรับราคาหน้าโรงงานล่าสุดที่มีผลในวันที่ 28 ต.ค.2566 กระทรวงพาณิชย์ทำได้เพียงการเสนอความเห็นของการปรับราคาหน้าโรงงาน
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค โดยถ้าต้องการนำเงินที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาแก้ปัญหาการเผาอ้อยก่อนตัด ควรใช้งบประมาณจากรัฐบาลมาดำเนินการจะเหมาะสมกว่าการผลักภาระให้ประชาชนต้องบริโภคน้ำตาลทรายในราคาสูงขึ้น
2.การยกเลิกโควต้าจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ
ซึ่งในอดีตจะมีการแบ่งน้ำตาลออกเป็น 3 ส่วน คือ
โควต้า ก สำหรับบริโภคในประเทศ
โควต้า ข สำหรับจำหน่ายเพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณรายได้ที่จะนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ในสัดส่วน 70:30
โควต้า ค สำหรับให้โรงงานน้ำตาลขายทำราคาส่งออกเอง
ในปัจจุบันที่มีการยกเลิกโควตา ก ทำให้ไม่มีการกำหนดปริมาณน้ำตาลที่จะหน่ายในประเทศ โดยในปี 2558 กำหนดโควตา ก จำนวน 26 ล้านกระสอบ หรือ 2.6 ล้านตัน
รวมทั้งในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) จะกำหนดปริมาณน้ำตาลที่แต่ละโรงงานต้องสำรองไว้ โดยในบัญชีผลิตน้ำตาลขั้นต้นปีการผลิต 2565/66 ผลิตน้ำตาลได้รวม 119 ล้านกระสอบ หรือ 11.9 ล้านตัน ในจำนวนดังกล่าวเป็นน้ำตาลสำรอง 2.03 ล้านกระสอบ หรือ 203,200 ตัน
3.กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไม่มีบทบาทในการแทรกแซงราคาอ้อย
ในอดีตเมื่อราคาอ้อยที่ชายไร่ขายได้ต่ำกว่าต้นทุน รัฐบาลจะเข้ามาดูแลชาวไร่อ้อยด้วยการให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจาก เพื่อนำเงินมาจ่ายเพิ่มค่าอ้อย โดยให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาจ่ายให้เกษตรกรกรก่อน เช่น ปี 2558 ก่อนปรับโครงสร้างได้มีการกู้เงินมาจ่ายชาวไร่อ้อย 16,953 ล้านบาท
ส่วนปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลจะทำหน้าที่ด้านการวิจัและพัฒนา รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยการปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานที่มีผลวันที่ 28 ต.ค.2566 จะนำเงินส่วนหนึ่ง 2 บาท ใช้การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนตัดอ้อยสด
4.การกำหนดราคาหน้าโรงงานตามทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก
ที่ผ่านมาจะใช้น้ำตาลโควต้า ข สำหรับจำหน่ายเพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณรายได้ที่จะนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้ราคาหน้าโรงงานไม่มีการเปลี่ยนมาก และราคาขายปลีกถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์
ส่วนปัจจุบันจะใช้ราคาหน้าโรงงานในการคำนวณรายได้ที่จะเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ โดยการปรับราคาหน้าโรงงานล่าสุดจะทำให้รายได้เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เพราะปรับขึ้นตามทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก
แหล่งข่าวจาก สอน.กล่าวว่า การปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานล่าสุด สอน.จะนำมาใช้คำนวณราคาอ้อยสำหรับฤดูกาลผลิต ปี 2566/67 ซึ่งกำลังจะหีบอ้อยในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค.2556 จากเดิมที่คำนวณราคาที่ 19-20 บาท และหากไม่มีการประกาศขึ้นราคาเลยจะทำให้ชาวไร่เสียโอกาสที่จะได้รับส่วนแบ่งจากส่วนต่างของราคาน้ำตาลตลาดโลกและในประเทศ
ขณะเดียวกันผู้ซื้อน้ำตาลเพื่อผลิตสินค้าในประเทศอาจไม่สามารถซื้อน้ำตาลได้หากไม่มีการปรับขึ้นราคา เนื่องจากผู้ขายต้องการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่ได้ราคาดีกว่า
สำหรับการปรับราคาหน้าโรงงานที่มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.2566 ดังนี้
1.น้ำตาลทรายขาว จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็นกิโลกรัมละ 23 บาท
2.น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากกิโลกรัมละ 20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 24 บาท
นายบุญถิ่น โคตรศิริ กรรมการบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) กล่าวว่า การฟ้องร้อง WTO ของประเทศบราซิลเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในปัจจุบัน
“ปัจจุบันไม่มีการกำหนดโควต้าน้ำตาล ก สำหรับการบริโภคในประเทศแล้ว ทำให้โรงงานน้ำตาลสามารถเลือกได้ว่านำน้ำตาลที่ผลิตได้มาจำหน่ายในประเทศหรือนำไปส่งออก”
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 57 โรงงาน โดยมีผู้ผลิตกลุ่มใหญ่ที่มีโรงงานหลายแห่ง เช่น กลุ่มมิตรผล กลุ่มไทยรุ่งเรือง กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น