ภูมิรัฐศาสตร์ดัน ‘มูราตะ’ ลงทุนไทย ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป้อน ‘Apple’
‘มูราตะ’ ซัพพลายเออร์แอปเปิล เผยแผนลงทุน 2.4 พันล้านบาท ขยายฐานผลิต ‘MLCC’ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เรือธงในไทย ป้อนดีมานต์สมาร์ตโฟน อีวี อุปกรณ์ IoT และดาต้าเซ็นเตอร์ คาดสร้างการจ้างงานในพื้นที่ภาคเหนือกว่า 2,000 คน
ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้ทำให้บริษัทข้ามชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีน เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ และทำให้หลายบริษัทสนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยจำนวนมากในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นธุรกิจหลักที่ได้รับผลกระทบจากการเผชิญหน้าระหว่างประเทศมหาอำนาจสหรัฐและจีน ซึ่งนำมาสู่ Tech War โดยสหรัฐได้มีการออกกฎหมายเพื่อควบคมการส่งออกชิป
บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของแอ๊ปเปิ้ล ตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทย โดยเปิดอาคารโรงงานผลิตแห่งใหม่ ในนิคมอุตสาหกรรมเวิลด์ ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูนเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2566
โดยการลงทุนสร้างอาคารโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้จะใช้ผลิตตัวเก็บประจุแบบเซรามิกหลายชั้น (Multilayer Ceramic Capacitors: MLCC) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ระดับเรือธงของมูราตะที่ใช้เพิ่มความเสถียรในอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างสมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์ ยานยนต์ และดาวเทียม ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกสูงถึง 40%
โนริโอะ นากาจิมะ ประธานบริษัท มูราตะ แมนูแฟคเจอริ่ง เปิดเผยว่า เมื่อโรงงานผลิตแห่งใหม่นี้แล้วเสร็จ จะเสริมให้มูราตะมีฐานการผลิต MLCC ในต่างประเทศ 4 แห่ง คือ เมืองอู๋ซี ประเทศจีน ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย ส่วนอีก 2 แห่งในเมืองฟูกูอิ และอิซูโมะ ประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ มูราตะ วางแผนที่จะขยายกำลังการผลิตปีละ 10% โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูราตะได้ขยายกำลังการผลิตของ MLCC แล้วกว่า 3 เท่า เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเติบโตทั้งระยะกลางถึงระยะยาวในความต้องการชิ้นส่วน MLCC ที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของความต้องการใช้งานของสมาร์ตโฟนที่ใช้เทคโนโลยี 5G และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ย่อส่วน อุปกรณ์ IoT ที่มากขึ้นเช่น นาฬิกาอัจฉริยะ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน
โดยเฉพาะในสมาร์ตโฟนระดับไฮเอนด์ที่สามารถติดตั้งคาปาซิเตอร์ชนิดนี้ได้มากถึง 1,000-1,200 ตัว รวมถึงยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวอีกมากในอนาคต ที่อาจต้องใช้คาปาซิเตอร์ถึง 10,000 ชิ้นต่อคัน ซึ่งปัจจุบันมูราตะครองส่วนแบ่ง MLCC ที่ใช้ในอีวีกว่า 50%
ทั้งนี้ ด้วยแรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ทำให้มูราตะมีแผนการลงทุนเพื่อการกระจายบทบาทการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิต MLCC ทั่วโลกราว 1.3 แสนชิ้นต่อเดือน
ฮิโรคะซึ ซาซาฮาร่า กรรมการผู้จัดการบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มูราตะถือเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่จ.ลำพูนเมื่อ 35 ปีที่แล้ว และมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า การลงทุนของมูราตะในช่วงปี 2563-2565 อยู่ที่ 6,933 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ และคิดเป็น 40% ของมูลค่าการลงทุนในจ.ลำพูน รวมทั้งสร้างการจ้างงานกว่า 2,428 ตำแหน่ง
2 เหตุผล ปักหมุดนิคมฯ ลำพูน
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูราตะเลือกที่จะมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดลำพูน ภาคเหนือของไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านแรงงาน ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือมีค่าแรงที่ถูกกว่าพื้นที่อุตสาหกรรมหลักของประเทศอย่างภาคตะวันออก และกรุงเทพฯ รวมทั้งไม่มีมีปัญหาในการแย่งชิงแรงงาน นอกจากนี้ มูราตะยังส่งเสริมการผลิตแรงงานร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่
รวมทั้งปัจจัยด้านการขนส่ง เนื่องจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีน้ำหนักเบาจึงมีต้นทุนการขนส่งต่ำ และใช้การขนส่งทางอากาศได้
ในขณะที่การขยายการลงทุนโรงงานแห่งใหม่นี้ จะเป็นการผลิต MLCC ครั้งแรกในไทย และจะเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน บนพื้นที่ 400 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 2.4 พันล้านบาท
โดยเฟสแรกที่จะเดินสายผลิตในเดือน พ.ย.นี้ เบื้องต้นมีกำลังผลิต 2,000 ล้านชิ้นต่อเดือน เมื่อเปิดดำเนินการเต็มที่ในปี 2571 จะมีกำลังการผลิต 3 หมื่นล้านชิ้นต่อเดือน รวมทั้งจะมีแผนจ้างงานในพื้นที่เพิ่มอีก 2,000 คน
จุนอิชิโร คุโรดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพ) กล่าวว่า แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลดความเสี่ยงโดยการกระจายบทบาทการผลิตไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการเปิดโรงงานเฟสใหม่ของมูราตะได้ตอกย้ำความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่แน่นแฟ้นของไทยและญี่ปุ่นและการเดินหน้าร่วมสร้างสรรค์ (co-creation) สำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมสำหรับอนาคต
ขณะที่การลงทุนของมูราตะในภาคเหนือของประเทศไทยจะเป็นการบริหารความเสี่ยงซัพพลายเชน รวมทั้งเป็นการเร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบรับความต้องการของตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว ซึ่งเจโทร กรุงเทพฯ พร้อมที่จะสนับสนุนให้นักลงทุนญี่ปุ่นในไทยขยายการลงทุนเพื่อพัฒนาการผลิตให้พร้อมรับเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่เหมือนกับที่มูราตะตัดสินใจขยายการผลิตที่มีเทคโนโลยีใหม่ในไทย
รวมทั้งเชิญนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีศักยภาพเข้ามาขยายการลงทุนในประเทศไทย ส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่สนใจ อาทิ การแพทย์ เกษตร และกลุ่มสตาร์ตอัป
“เราคาดหวังว่ารัฐบาลใหม่จะส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสร้างแรงงานฝีมือขั้นสูงให้พร้อมรับการลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต”
สำหรับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำไทยว่า อยากให้รัฐบาลพิจารณาถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้อย่างรอบคอบทั้งเอกชนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติเพื่อให้ไทยยังสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันได้ในภูมิภาค