‘นบข.’ ตีกลับมาตรการช่วย ‘ชาวนา’ ไร่ละ 1,000 บาท ตั้งคกก. 3 ฝ่ายลดต้นทุน
นบข.ตีกลับวงเงินมาตรการบริหารจัดการข้าวปี 2566/67 6.9 หมื่นล้าน ให้ไปทำตัวเลขใหม่ รวมทั้งเบรกมาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1 พันบาท วงเงินรวม 5.6 หมื่นล้าน โดยให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายไปดูเรื่องการลดต้นทุนการปลูกข้าว หากยังจำเป็นค่อยเสนอ นบข.อีกครั้ง
รายงานข่าวจากที่ประชุม คณะนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุม ระบุว่าที่ประชุม นบข.ในวันนี้ยังไม่อนุมัติวงเงิน มาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 วงเงิน 6.9 หมื่นล้านบาทตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยแม้ว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยกับแนวทางการชะลอการขายข้าวของเกษตรกร ในช่วงที่ผลผลิตข่าวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า
แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของแนวทางการทำมาตรการทั้ง 4 ข้อได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าว สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก รวมทั้งมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ประชุมมีมติให้ไปปรับปรุงมาตรการ และนำมาเสนอให้ที่ประชุม นบข.ใหม่อีกครั้งที่จะมีการประชุมในเดือนถัดไป
โดยข้อเสนอที่ประชุมให้ความสำคัญในวันนี้ เช่น การเพิ่มบทบทาทจำนำยุ้งฉางของสหกรณ์การเกษตร ที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยให้มีบทบาทเข้ามารับซื้อข้าวจากเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้รายงานว่าปัจจุบันมีสหกรณ์ที่มีศักยภาพสามารถช่วยชาวนาเก็บข้าวไว้ในช่วงต้นฤดูกาลผลิตได้ถึง 600 แห่ง
สำหรับในส่วนของมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงิน ประมาณ 5.63 หมื่นล้านบาท นั้นที่ประชุมยังไม่ได้อนุมัติเงินช่วยเหลือชาวนาในส่วนนี้ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องการลดต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนา โดยมอบหมายให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนจากสมาคมชาวนาไทย เพื่อดูว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้เท่าไหร่ แล้วหากมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ก็ให้มีการเสนอกลับมาที่ประชุม นบข.ในครั้งถัดไป