‘พาณิชย์ – คลัง - เกษตร’ จับเข่าคุย หาข้อสรุปใหม่ แผนบริหารข้าวปี 66/67

‘พาณิชย์ – คลัง - เกษตร’ จับเข่าคุย หาข้อสรุปใหม่ แผนบริหารข้าวปี 66/67

ยังไม่ลงตัวสำหรับมาตรการ ชะลอการขายข้าวปีการผลิต66/67 นบข.ให้ทำตัวเลขใหม่จากเดิมที่เสนอ 6.9 หมื่นล้าน โดยให้รวมบทบาทสหกรณ์ จำนำยุ้งฉาง พร้อมให้คลังถกกรุงไทย สินเชื่อโรงสีเข้าโครงการ ส่วนค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ1 พัน ให้ทำเรื่องลดต้นทุนเสนอมาใหม่ในการประชุมครั้งหน้า

การประชุมคณะนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ครั้งแรกของรัฐบาลนี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องของรายละเอียดของวงเงิน และมาตรการชะลอการขายข้าวช่วงต้นฤดูการผลิตข้าวนาปีปี66/67

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าที่ประชุม นบข.หารือเรื่องแนวทางการชะลอการขายข้าวของเกษตรกรที่จะมีผลผลิตออกมามากในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า      

“ขณะนี้แม้ว่าข้าวในตลาดโลกจะมีราคาสูงขึ้นแต่ว่าในช่วงนี้เป็นต้นไปราคาข้าวและสินค้าเกษตรจะเข้าสู่ตลาดมาก สิ่งที่กังวลใจคือพยายามจะต้องสต๊อกการขายไว้เพื่อไม่ให้ราคาตกลงไปมากกว่านี้ ”  สำหรับมาตรการ 4 ข้อที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ได้แก่ สินเชื่อชะลอการขายข้าว สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก รวมทั้งมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ประชุม น.บ.ข.ได้พิจารณา เงื่อนไข และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่เป้าหมายยังเหมือนเดิมคือรักษาเสถียรภาพราคาและปริมาณข้าว  

นอกจากนี้ ที่ประชุมขอให้นำวิธีการดูแลเกษตรกรผ่านสหกรณ์การเกษตร 4,000 แห่ง จากการตรวจสอบมีสหกรณ์การเกษตร 600 ที่มีศักยภาพเป็นลูกค้าที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.)สามารถติดตามได้ โดยนบข.จะมีการประชุมทุกเดือนในช่วงนี้เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสามารถแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างทันเวลา

‘พาณิชย์ – คลัง - เกษตร’ จับเข่าคุย หาข้อสรุปใหม่ แผนบริหารข้าวปี 66/67

 ส่วนโรงสีที่เป็นกลไกที่ช่วยในการชะลอการขายข้าวซึ่งทราบว่าโรงสีนั้นมีวงเงินอยู่กับธนาคารกรุงไทย แต่ถูกตัดกรอบวงเงินไปมากพอสมควรแล้วจึงให้กระทรวงการคลังเจรจากับธนาคารกรุงไทย เพื่อพิจารณาแก้ปัญหาของโรงสีซึ่งเป็นลูกค้าเก่า  

‘พาณิชย์ – คลัง - เกษตร’ จับเข่าคุย หาข้อสรุปใหม่ แผนบริหารข้าวปี 66/67

รายงานข่าวจากที่ประชุม ระบุว่าที่ประชุม นบข.ยังไม่อนุมัติวงเงิน มาตรการบริหารจัดการข้าวเปลือกนาปี 2566/67 วงเงิน 6.9 หมื่นล้านบาทตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ แม้ว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยกับแนวทางการชะลอการขายข้าวของเกษตรกร ในช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปีออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า  สำหรับในส่วนของมาตรการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

ตั้งกรรมการดูแลการลดต้นทุนปลูกข้าว

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือการเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละ 20,000 บาท วงเงิน ประมาณ 5.63 หมื่นล้านบาท นั้น ที่ประชุมยังไม่ได้อนุมัติแต่ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องการลดต้นทุนการปลูกข้าวของชาวนา โดยมอบหมายให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่าย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และตัวแทนจากสมาคมชาวนาไทย หารือแผนลดต้นทุนการผลิตข้าวแทนและให้นำเสนอเข้าสู่การประชุมครั้งต่อไป  ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าที่ประชุม นบข.รับทราบเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2567 จำนวน 7.5 ล้านตัน ส่วนปี 2566 จะส่งออกข้าวได้ประมาณ 8 ล้านตัน

โดยคาดว่าผลผลิตข้าวปีนี้ยังไม่ได้เสียหายจากปรากฎการณ์เอลนีโญ่ และบางประเทศ มีผลผลิตมากขึ้น เช่นปากีสถาน ส่วนของไทย ผลผลิตข้าวนาปี ก็ไม่ได้เสียหายจากภัยแล้ง ขณะที่ราคาข้าวในช่วงต้นปีหน้าอาจจะมีปริมาณข้าวออกมาสู่ตลาดโลกมากขึ้นซึ่งอาจทำให้ราคาข้าวผันผวน และทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงได้ซึ่งราคาส่งออกข้าวขึ้นอยู่กับปริมาณข้าวในตลาดโลก

ตั้ง 3 อนุกรรมการดูแลราคา-สถานการณ์ข้าว

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เร็วๆนี้ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดนัดหารือกับผู้ส่งออกข้าว เพื่อร่วมกันดูแลสถานการณ์ราคาและปริมาณผลผลิตของไทย

นอกจากนี้ ที่ประชุม นบข. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 3 คณะ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ นบข. ประกอบด้วย

  1. คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานอนุกรรมการ  
  2. คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการ  
  3. คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการ

ทำหน้าที่ ติดตาม กำกับดูแล แก้ไขปัญหา และบริหารจัดการข้าวทั้งด้านการผลิตและการตลาดข้าวในระดับจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ และเป็นไปด้วยความเรียบร้อยพิจารณาคัดเลือกและอนุมัติผู้ประกอบการค้าข้าวที่จะขอรับการสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตามโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก