เศรษฐกิจโลกทรุดฉุด"ส่งออก"วัดฝีมือ"ภูมิธรรม"ทำแผนฟื้นตลาด
“สงคราม-เอลนีโญ” ฉุดเศรษฐกิจโลกปี 67 รัฐบาลญี่ปุ่นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่ 4 ล้านล้านบาท “ภูมิธรรม” นัดหารือทูตพาณิชย์ดันส่งออกปีหน้า สรท.ห่วงผลกระทบเศรษฐกิจโลกลามถึงส่งออกไทย ขอรัฐเร่งทำเอฟทีเอ ‘ทีทีบี’คาดส่งออกปีหน้าโต 3%ห่วงเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอ
เศรษฐกิจโลกในภาพรวมอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการผลิตยังหดตัว ขณะที่ภาคบริการแผ่วลงต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากดัชนี Purchasing Managers Index ของประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่นและจีน ของภาคการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ปรับตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปีนี้
ในขณะที่ภาคการผลิตของจีนยังคงอ่อนแอ โดยยอดคำสั่งซื้อใหม่ยังคงหดตัว และการค้าโลกที่อ่อนแอยังเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกในระยะข้างหน้า โดยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยต่างประมาณการณ์การส่งออกของไทยปี 2566 จะติดลบ ดังนี้
1.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินการส่งออกปีนี้ ติดลบ 1.8% โดยในช่วง 3 ที่เหลือของปีนี้ จะมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,061 ล้านดอลลาร์
2.คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินการส่งออกปีนี้ ติดลบ 2.0% ถึงลบ 0.5% โดยในช่วง 3 ที่เหลือของปีนี้ จะมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 22,869-24,306 ล้านดอลลาร์
3.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินการส่งออกปีนี้ ติดลบ 1.7% โดยในช่วง 3 ที่เหลือของปีนี้ จะมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,156 ล้านดอลลาร์
4.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินการส่งออกปีนี้ ติดลบ 1.8% โดยในช่วง 3 ที่เหลือของปีนี้ จะมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,061 ล้านดอลลาร์
ในขณะที่การส่งออกในปี 2567 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายแห่งประเมินว่าการส่งออกของไทยจะมีความท้าทายมากกว่าปี 2566
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมบูรณาการร่วมพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ เพื่อหารือแนวทางการผลักดันการส่งออกปี 2567 โดยในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ประมาณการณ์การส่งออกขยายตัว 1% ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปีนี้ ติดลบ 3.8%
สรท.ห่วงเศรษฐกิจโลกฉุดการค้า
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความกังวลต่อสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ และอาจจะลากยาวไปจนถึงปี 2567 ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ยุติ
ทั้งนี้ สถานการณ์เช่นนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าโลกและกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสงครามอิสราเอล-ฮามาส แม้การค้าระหว่างไทยกับอิสราเอลมีไม่มากนัก แต่หากสถานการณ์ขยายเป็นวงกว้างสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางก็เป็นที่น่าหนักใจจะกระทบต่อการส่งออกของไทย
“ขณะนี้ไทยมีเป้าหมายเจาะตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกในภูมิภาคนี้ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะนี้สถานการณ์เริ่มรุนแรงมากขึ้นไปกว่านี้ก็จะซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกยิ่งขึ้นไปอีก”
นอกจากนี้ปัญหาภัยแล้งจากปรากการณ์เอลนีโญ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจกระทบต่อการส่งออกได้ เนื่องจากภัยแล้งจะทำให้ปริมาณผลลิตด้านการเกษตรลดลง เช่น ข้าว อ้อย ผลไม้ เป็นต้น โดยคาดว่าน่าจะลดลงประมาณ 10-15% แต่ก็รอดูสถานการณ์ภัยแล้งต่อไป
อย่างไรก็ตามแม้ปริมาณผลผลิตจะลดลง แต่หากต่อรองด้านราคาหรือเพิ่มราคาได้หรือไม่ เพราะหลายประเทศก็คำนึงถึงความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นส่งออกจะลดลงหรือไม่ก็ต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย
“ปีหน้ามีปัจจัยไม่รู้เยอะมาก มีผลกระทบต่อการส่งออกทั้งสิ้นและทุกปัจจัยเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ปัญหาภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นดี ขณะที่เศรษฐกิจจีนภาคการเกษตรก็ยังไม่ฟื้นตัว ปัจจัยเหล่านี้เป็นผลต่อการส่งออก ซึ่งผู้ส่งออกต้องปรับตัว และหารือกับภาครัฐตลอดเวลา“ นายชัยชาญ กล่าว
นายชัยชาญ กล่าวว่า ตัวเสริมหรือตัวช่วยสำคัญสำหรับการส่งออกของไทย คือ ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งขณะนี้มีข้อตกลงเอฟทีเอหลายฉบับที่กำลังเดินหน้า โดยภาคเอกชนเห็นว่าควรเร่งทำเอฟทีเอไทย-ตุรกี เพื่อให้ปิดดีลให้เร็วที่สุด เพราะตุรกีจะเป็นประตูสู่ยุโรปและตะวันออกกลาง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม
ส่วนเอฟทีเออื่นต้องทำต่อไปทั้งเอฟทีเอไทย-อียู เอฟทีเอไทย-ยูเออี ส่วนจะเปิดเอฟทีเอประเทศอื่นทางภาคเอกชนยังไม่ได้มีข้อเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ อย่างไรก็ตามในวันที่ 10 พ.ย.2566 กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนจะร่วมแถลงแผนการส่งออกในปี 2567
‘ทีทีบี’คาดส่งออกปีหน้าโต 3%
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยปีหน้ามีโอกาสที่จะเติบโตได้ระดับ 3% จากปีนี้คาดติดลบ1.1% เพราะ เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวได้จากอัตราดอกเบี้ยทั้งโลกที่อยู่ระดับสูง และฐานสูงนั้นหมดไป
“ปีนี้ส่งออกปีหน้าที่เราคาดโตได้3%ไม่ได้เติบโตแรง แต่เป็นการฟื้นตัว จากปีนี้ที่ติดลบ 1.1% เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาส่งออกไทยเติบโตแรง และถือว่าผ่านจุดพีคไปแล้ว”
สำหรับแรงส่งของภาคการส่งออกของไทยจะมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะการแบ่งขั้นแบ่งฝ่ายนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ เพราะมีภาคธุรกิจย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย และใช้ประเทศไทยเป็นถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกมากขึ้นดังนั้นประเทศไทยสามารถค้าขายได้กับทุกประเทศ เพราะประเทศไทยมีการส่งออกกระจายไปหลายประเทศ
หวั่นสินค้าจีนล้นฉุดส่งออกไทย
อย่างไรก็ตามในปีหน้าหากเศรษฐกิจจีนโตช้า เชื่อว่าจะมีสินค้าจีนออกมาท่วมโลก หรือล้นตลาดโลก เพราะกำลังผลิตมีมากกว่ากำลังซื้อของคน หากจีนลดกำลังผลิตก็คงลดไม่มาก ซึ่งอาจจะเป็นตัวฉุดการส่งออกของไทยได้
ส่วนการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นนั้นเชื่อว่าปีหน้าคาดว่าจะทรงตัวมากขึ้น ซึ่งไม่ได้กลับมาเติบโตโดยสินค้าที่ยังคงเติบโตได้ดีในปีหน้า จะเป็นกลุ่มสินค้าที่เติบโตดีในปีนี้ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหารรูป อาหาร สินเค้าเกษตรฯเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์
นายนริศ กล่าวว่า ตอนนี้ภาพชัดขึ้นว่า การพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งนั้นอันตรายมาก ดังนั้นการหาตลาดใหม่ๆเป็นเรื่องสำคัญ และควรที่จะเจาะกลุ่มประเทศที่มีกำหลังซื้อสูงมากขึ้น เช่น อินเดีย ตะวันออกลาง ออสเตรีย ขณะที่ไทยต้องพัฒนาสินค้าด้วยเช่นกัน เพราะสินค้าเวียดนามหลากหลายกว่าในอดีตมาก แต่ไทยสินค้าแทบจะไม่ต่างไปจากเดิมเลย
กังวลเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่ำ
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) กล่าวว่า ส่งออกของไทยปีหน้าจะเติบโตได้ แต่จะไม่ได้บวกแรงลักษณะค่อยๆฟื้นตัว คาดโต 0.60% จากปีนี้คาดว่าจะติดลบ2.1% โดยเริ่มเห็นการฟื้นตัวในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แต่ประเทศไทยฟื้นตัวช้า เพราะ อิเล็กทรอนิกส์ของไทยอยู่ในฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไม่ค่อยมีประเภทที่เป็นไฮเทค
ส่วนการฟื้นตัวของการส่งออกเป็นรายประเทศ อย่างสหรัฐ และยุโรป ถือว่ายังโตได้ต่ำ เพราะ เศรษฐกิจทั้งสหรัฐและยุโรปปีหน้าแม้จะโตจากปีนี้แต่เป็นอัตราที่โตต่ำกว่าปีนี้ ซึ่งไอเอ็มเอฟ คาดการณ์จีดีพีสหรัฐปีนี้โต 2.1% ส่วนปีหน้าโต 1.5% ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปปีหน้าโตไม่ถึง1% เป็นความเสี่ยงหลัก และยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามต่อไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูงมากนาน อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงช้า การปล่อยสินเชื่อที่มีการเข้มงวดขึ้น ก็จะกดดันเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยเติบโตช้าลง
นอกจากนี้สิ่งที่น่ากังวล คือการเติบโตของประเทศจีน แม้ประเทศจีนจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่คาดว่าการส่งออกจีนจะติดลบไปถึงกลางปีหน้า เพราะ สงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี ระหว่างสหรัฐกับประเทศจีนยังคงเข้มข้นอยู่ก็จะกดดันการส่งออกเพื่อ Re-Export ซึ่งสินค้าไทยที่จะส่งออกไปจีนมีการเติบโตที่ดี คือสินค้าเกษตรแปรรูป อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเติบโตได้แต่ยังไม่มาก
ส่วนญี่ปุ่นถือเป็นตลาดที่สำคัญของไทย ซึ่งถือว่าการส่งออกสินค้าก็มีโอกาสเติบโตได้ แต่เชื่อว่าจะโตไม่มาก เพราะ แม้ญี่ปุ่นจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน แต่เชื่อว่าจะไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยมากนัก เพราะคุณภาพสินค้าที่จะส่งออกไปญี่ปุ่นได้นั้นต้องการตรวจคุณภาพอย่างเข้มงวด ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งในการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น
ญี่ปุ่นกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหญ่4ล้านล้านบาท
นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ วงเงินราว 17 ล้านล้านเยน (ราว 4 ล้านล้านบาท) เมื่อวานนี้ (2 พ.ย.) เพื่อเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจประเทศตั้งแต่การช่วยเหลือภาคครัวเรือน ไปจนถึงการลดภาษี และการลงทุนในประเทศ
หนึ่งในแผนการช่วยเหลือสำคัญภายใต้มาตรการนี้ก็คือ การช่วยบรรเทาผลกระทบเงินเฟ้อให้ภาคครัวเรือนญี่ปุ่น การลดภาษี การช่วยภาคเอกชนปรับขึ้นค่าแรง และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในประเทศเพิ่มเติมเมื่อรวมการสนับสนุนด้านเงินกู้จากรัฐและการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นแล้ว จะทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้มีวงเงินรวมอยู่ที่ประมาณ 21.8 ล้านล้านเยน (ราว 5.2 ล้านล้านบาท)
แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ ยังมีขึ้นท่ามกลางคะแนนนิยมของนายคิชิดะที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดลงมาแตะระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อสองปีก่อนแล้ว โดยผลสำรวจคะแนนนิยมของสถานีโทรทัศน์เอเอ็นเอ็น พบว่า คะแนนนิยมของนายคิชิดะลดลงมาอยู่ที่ 26.9% ส่วนผลสำรวจของหนังสือพิมพ์นิกเกอิอยู่ที่ 33% โดยผู้ตอบแบบสำรวจถึง 58% ยังระบุด้วยว่า ไม่มีความหวังอะไรมากนักกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับนี้
ทั้งนี้ ค่าแรงที่แท้จริงของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงมา 17 เดือนติดต่อกันแล้ว เนื่องจากอัตราค่าแรงไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีการปรับค่าแรงตามฤดูกาลเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีนี้ไปแล้วก็ตาม
จีนส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาจีนเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ทุ่มเทมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายรูปแบบหลังจากเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตชะลอตัวลงทั้งจากการฟื้นตัวของการบริโภคที่ช้ากว่าคาดหลังจากการเปิดประเทศ ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ สงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงการที่ตลาดหุ้นจีนเผชิญกับความผันผวนและปัจจัยกดดันต่างๆมาตรการที่จีนใช้มีทั้งการออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ และการลดภาษีอากรแสตมป์สำหรับการซื้อขายหุ้น
ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ปรับลดสัดส่วนการถือครองเงินสกุลต่างประเทศในเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ (FX-RRR) อัดฉีดสภาพคล่อง รวมถึงยังได้ประกาศลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ (RRR) และลดอัตราดอกเบี้ยเกือบทุกประเภท
มาตรการล่าสุดในช่วงกลางเดือน ต.ค.กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน เพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ของจีนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2558 โดยบริษัท Central Huijin Investment Ltd. ซึ่งเป็นของรัฐบาลจีนได้ซื้อหุ้น 4 ธนาคารใหญ่ของจีน ในมูลค่า 65 ล้านดอลลาร์
ผลของการออกมาตรการและนโยบายของจากทางรัฐบาลจีนและธนาคารกลางเริ่มเห็นผลในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.ย.ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ จีดีพี ไตรมาส 3 ขยายตัว 4.9% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2565 สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ 4.4% ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.5% สูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 4.3% ยอดค้าปลีกของจีนรายงานออกมาขยายตัว 5.5% สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.9% เป็นต้น