ผู้ว่าธปท.ชี้การสู้รบอิสราเอลความเสี่ยงใหม่เศรษฐกิจ
ผู้ว่าธปท.ชี้การสู้รบอิสราเอลเป็นความเสี่ยงใหม่เศรษฐกิจ ระบุ เศรษฐกิจที่มีความยืดหยุ่นจะเป็นกันชนที่ดี โดยงบดุลทั้งฝั่งภาครัฐและเอกชนต้องแข็งแกร่ง ขณะที่ นโยบายที่เน้นการดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพต้องกลับมาเป็นพระเอก
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)กล่าวปาฐกถาในหัวข้อปรับโหมดนโยบายการเงินสู่เศรษฐกิจยั่งยืน Towards a more resilient future ในงานสัมมนาที่จัดโดยวารสารการเงินธนาคารระบุ ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่คาดไม่ถึง หรือ ประเมินลำบาก จะทำให้เกิดแรงกระแทกหรือผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจที่แรง ดังนั้น จึงจำเป็นที่เศรษฐกิจต้องปรับโหมดในการดูแลหลายมิติ โดยเฉพาะในเศรษฐกิจที่มี resiliency หรือ ความยืดหยุ่น เพื่อรองรับแรงกระแทกได้
ทั้งนี้ องค์ประกอบของเศรษฐกิจที่มี resiliency ไม่ใช่แค่เสถียรภาพ แต่มีความหมายกว้างกว่านั้น มีองค์ประกอบเรื่องความทนทานภายใต้บริบทที่เปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่น ถ้ามีเหตุการณ์คาดไม่ถึงสามารถปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ได้ มีลักษณะที่ล้มแล้วลุกขึ้นได้เร็ว เป็นต้น
ชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจกลับมาเป็นพระเอก
เขาระบุว่า ขณะนี้ สถานการณ์ของโลกเปลี่ยนไปมาก โดยความเสี่ยงเพิ่มสูง ซึ่งความเสี่ยงที่สูงสำหรับเหตุการณ์ที่คุ้นชิน เช่น การเติบโตของจีนที่ลดลง หรือ เศรษฐกิจโลกที่ปรับลดลง เราก็สามารถรับมือได้แต่ที่น่าห่วง คือ มีความเสี่ยงใหม่ที่ไม่คุ้นชิน ทำให้คาดการณ์ลำบากว่า ผลท้ายสุดจะเป็นอย่างไร
“บทเรียน 10-20 ปี ที่ดูออกยาก คือ ผลข้างเคียง ยกตัวอย่าง ความเสี่ยงที่สูงมาก เช่น สถานการณ์ในตะวันออกลาง อาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง จึงเป็นที่มาว่า เรื่องของเสถียรภาพ จะกลับมาเป็นพระเอก จากเดิมที่เราเน้นกระตุ้นเพื่อออกจากวิกฤตโควิด แต่ขณะนี้ บริบทเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้ ต้องกลับมา
ทั้งนี้ แนวทางการดูแลเศรษฐกิจที่เน้นเสถียรภาพนั้น สอดคล้องกับมุมมองของไอเอ็มเอฟ โดยเน้นเสถียรภาพ เช่น เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย เก็บลูกกระสุนการคลัง ดูแลเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน ปรับโครงสร้างรับกระแสโลกใหม่
เขากล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ คือ ดูแลให้เศรษฐกิจโตตามศักยภาพที่ 3-4% ต่อปี เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย 1-3% และ อย่าให้เกิดความไม่สมดุลการเงิน เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า ตอนนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจของไทย เป็นอย่างไร ตอบสั้นๆ คือ โอเค ใช้ได้ แต่ชะล่าใจไม่ได้ โดยถ้าดูจากตัวเลขเศรษฐกิจ ตัวที่โอเค คือ ต่างประเทศมั่งคั่งจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงทุนสำรองระหว่างประเทศ งบดุลของบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์ดี
หนี้”สาธารณะ-ครัวเรือน”จุดอ่อนเสถียรภาพเศรษฐกิจ
ส่วนเสถียรภาพที่ที่โอเคน้อยหน่อย คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ 91% เทียบจีดีพี แม้จะลดลงจากสูงสุดที่ 94% แต่ก็ยังสูงมาก และอยู่ในเทรนด์โตที่โตมา โดยเฉพาะในช่วงโควิด อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีตัวเลขตายตัวว่าระดับเท่าไหร่เหมาะสม แต่ต่างประเทศอยากให้รักษาไว้ที่ระดับ 80% เศษ ฉะนั้น ในมิตินี้ ถือว่า ยังมีปัญหา และจับตามอง
อีกด้านเทียบในอดีต คือ ความอ่อนแอภาคการคลัง สะท้อนจากตัวเลขหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ถามว่า เทียบต่างประเทศนั้น พบว่า หลายประเทศสูงกว่าเรา แต่หนี้ดังกล่าวเพิ่มมาอย่างเร็วจากก่อนโควิด โดยระดับ62%ต่อจีดีพีนั้น สูงสุดกว่าที่เราเคยมีมา จึงเป็นตัวเลขที่ต้องใส่ใจ หรือ ชะล่าใจไม่ได้
นอกจากนี้ เราเห็นเรื่องความกังวลของตลาดที่มากขึ้น อันดับแรก พอร์ตเงินไหลออก แม้เสถียรภาพต่างประเทศจะดี แต่ยอมรับว่า มีเงินไหลออก 8.4พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไหลออกทั้งตลาดบอนด์และตลาดทุน ถือว่า สูงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปี และค่อนข้างสวนทางประเทศอื่นในภูมิภาค สะท้อนความกังวลตลาด ส่วนค่าเงินก็ผันผวนสูงเทียบในอดีตที่ 8-9%
“ยังมีกังวลของผู้เล่น เครดิตเรตติ้ง โดยจุดที่กังวล คือ วิกฤตการคลัง สอดคล้องกับไอเอ็มเอฟที่อยากให้ขาดดุลน้อยลง ใส่ใจในหนี้สาธารณะให้กลับมาโอเค”
เร่งสร้างกันชนเน้นงบดุลภาครัฐเอกชนต้องแข็งแกร่ง
ผู้ว่าธปท.กล่าวด้วยว่า องค์ประกอบในการดูแลเศรษฐกิจ นอกจากการเดินนโยบายให้ไม่มีปัญหา ตัวที่จะทำให้มีเสถียรภาพ คือ ภูมิ ที่จะรับช็อก อันดับแรก กันชนต้องดี ที่ Basic มากๆ คือ บาล๊านซ์ชีสภาครัฐและเอกชนต้องแข็งแรง สัดส่วนหนี้ต่อทุนไม่ควรสูง เมื่อภาวะช็อกจะมาในรูปแบบแปลกและใหม่ เราจะมีBuffer รองรับ
นอกจากนี้ ภาครัฐเองต้องมีกระสุนที่เพียงพอ และธนาคารกลางต้อมีเสปรดพอที่จะปรับดอกเบี้ย และที่สำคัญ ยิ่งเราเจอความเสี่ยงคาดไม่ถึง เราจะต้องสร้างทางเลือกใหม่ คือ ถนนหลัก ถนนรอง เพื่อให้เศรษฐกิจมีทางเลือกรองรับช็อกที่คาดไม่ถึง
สร้างโอกาสใหม่ให้เศรษฐกิจโตในฐานกว้าง
“ถ้าเราอยากมีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ เราต้องสร้างโอกาส เพื่อให้มีการเติบโตแบบใหม่ที่ฐานจะกว้างมากขึ้น ถ้าโตแบบเดิมๆ จะยิ่งลำบาก โดยตัวเลขฟ้องว่า จะโตลำบาก คือ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยและอุตสาหกรรม อยู่ในโลกเก่า เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ เป็นต้น”
เขากล่าวว่า การโตแบบเดิมจะส่งผลประโยชน์ทั่วถึงอย่างที่ควรจะเป็นไม่ได้ ซึ่งการเติบโตที่ผ่านมา เรามักใส่ใจเรื่องการเติบโตด้านตัวเลข แต่ไม่รู้ว่าการเติบโตไปที่ไหน อยู่กับใคร ซึ่งถ้าผลประโยชน์อยู่ในวงแคบ ก็เหมือนโตในฐานแคบ
โดยตัวเลขกว่า 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า รายได้ประชาชาติไม่หักเงินเฟ้อโต 3 เท่า จากปี 2001 อยู่ที่ 100 แต่มาปี 2021 เป็น 298 ฟังดูโอเค แต่ไปที่ไหน เราพบว่า ภาพสะท้อนประโยชน์การเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้กระจาย
ทั้งนี้ พบว่า รายได้ภาครัฐ โต 2.7 เท่า เป็น 277 รายได้แรงงานโต 2.7 เท่า เป็น 2.74 แต่กำไรบริษัทโตเกือบ 5 เท่า เป็น 482 และถ้าดูการกระจายรายได้ของบริษัทพบว่า เอสเอ็มอีไม่ได้สูง ดังนั้น การกระจุกตัวของรายได้จะในภาคธุรกิจขนาดใหญ่