ปิดตำนาน ‘ไทยสมายล์’ ยกเลิกรหัสแอร์ไลน์ WE ม.ค.นี้
“การบินไทย” เร่งปรับโครงสร้างควบรวม “ไทยสมายล์” แล้วเสร็จ ม.ค.นี้ ปิดตำนานสายการบินลูก ยกเลิกรหัสแอร์ไลน์ WE จ่อดึงบริษัทหันทำธุรกิจอื่น
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ ด้วยการควบรวมสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินลูกที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศในรูทระยะสั้น โดยอยู่ระหว่างเร่งนำเครื่องบินของไทยสมายล์จำนวน 20 ลำ กลับมาอยู่ภายใต้ฝูงบินเดียวกัน รวมไปถึงนำพนักงานของไทยสมายล์กลับมาให้บริการภายใต้การบินไทย
“ชาย เอี่ยมศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างดังกล่าว โดยระบุว่า ขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างทำกระบวนการนำเครื่องบินแอร์บัส A320 จำนวน 20 ลำ ที่เคยให้บริการภายใต้ฝูงบินของไทยสมายล์ โอนกลับมาให้อยู่ในฝูงบินของการบินไทย ซึ่งปัจจุบันได้โอนเครื่องบินมาแล้วจำนวน 4 ลำ คาดการณ์ว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2567
“ขั้นตอนการโอนสิทธิบริหารฝูงบิน 20 ลำ การบินไทยจะต้องดำเนินการแจ้งไปยังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม ซึ่งเมื่อไทยสมายล์โอนเครื่องบินทั้งหมดกลับมาที่การบินไทยแล้ว ท้ายที่สุดก็จำเป็นต้องยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการการเดินอากาศ (AOL) ซึ่งจะส่งผลให้รหัสการบินภายใต้โค้ด WE ของสายการบินไทยสมายล์สิ้นสุดลง ประกอบกับใบอนุญาตของไทยสมายล์ก็มีกำหนดหมดอายุในเดือน ม.ค.2567”
นอกจากการบินไทยจะอยู่ระหว่างเร่งทำเรื่องโอนเครื่องบินกลับมาไว้ในฝูงบินเดียวกันแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างควบรวมการทำงานต่างๆ ขององค์กร และพนักงานไทยสมายล์ให้กลับมาอยู่ภายใต้การบินไทย โดยนักบินและลูกเรือทั้งหมดของไทยสมายล์จะยังคงปฏิบัติหน้าที่ในเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A320 ตามเดิม แต่จะกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่การบินไทยเป็นสายการบินเดียว ให้บริการเส้นทางครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ ภายใต้โค้ด TG โดยไม่มีสายการบินไทยสมายล์อีกแล้วในโค้ด WE
สำหรับผลบวกที่การบินไทยประเมินจากการควบรวมกิจการ จะส่งผลต่ออัตราการใช้เครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันอัตราการใช้เครื่องบินของไทยสมายล์เฉลี่ยที่ประมาณ 9 ชั่วโมงเท่านั้น ขณะที่การบินไทยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยประมาณ 12 - 13 ชั่วโมงต่อวัน บางกลุ่มมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ยถึงประมาณ 16 ชั่วโมงต่อวัน ถือว่ามีปริมาณการใช้เครื่องบินที่หนักมาก
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่าหากการบินไทยนำเครื่องบินแอร์บัส 320 ของไทยสมายล์มาบริหารในเส้นทางบินต่างๆ นั้น จะทำให้การบินไทยใช้ประโยชน์ของเครื่องบินกลุ่มนี้ต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 11 ชั่วโมงกว่า ซึ่งสูงกว่าอยู่ที่ไทยสมายล์ 2 ชั่วโมงกว่าต่อวัน เพราะจะสามารถบริหารเส้นทางบินครอบคลุมการใช้งานทั้งในและต่างประเทศ จะเพิ่มชั่วโมงการบินในช่วงเวลากลางคืนได้ และจะลดต้นทุนต่อชั่วโมงได้ถึง 20% แค่นี้ก็เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เป็นผลบวกจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทย ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากเดือน ม.ค.2567 เป็นต้นไป แม้ว่าจะไม่มีสายการบินที่ให้บริการโดยไทยสมายล์ ไม่มีนักบินและลูกเรือของไทยสมายล์ แต่การดำเนินงานทุกอย่างจะยังคงเดิม การบินไทยยังเข้าไปให้บริการในทุกเส้นทางของไทยสมายล์ พนักงาน นักบินและลูกเรือของไทยสมายล์จะยังทำงานตามปกติ เพียงแต่ไม่ได้สวมชุดเครื่องแบบของไทยสมายล์ แต่กลับมาใส่เครื่องแบบของการบินไทย
ขณะที่ชื่อ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ส จำกัด เบื้องต้นยังประเมินว่าจะจดทะเบียนคงไว้ตามเดิม เพราะการบินไทยยังเห็นโอกาสในการนำเอาบริษัทไทยสมายล์ไปทำธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการบิน เป็นธุรกิจที่บริษัทไทยสมายล์ยังสามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะสร้างโอกาสให้สามารถดำเนินการได้ทันที โดยไม่ต้องจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยสิ่งเหล่านี้เป็นแผนในอนาคตที่ยังต้องรอประเมินสถานการณ์และศึกษารายละเอียด