คณะกรรมการเจ้าหนี้ ไฟเขียว 'การบินไทย' ควบรวมไทยสมายล์ คาดเสร็จสิ้นปี66
คณะกรรมการเจ้าหนี้ ไฟเขียว "การบินไทย" ควบรวมธุรกิจสายการบินกับ "ไทยสมายล์" คาดเสร็จสิ้นปี66 ช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มการบิน
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)หรือ THAI แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คณะกรรมการเจ้าหนี้ ในการประชุมวันนี้ (17 พ.ค.66 ) มีมติเห็นชอบให้ THAI ดำเนินการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจกลุ่มธุรกิจการบินของบริษัทตามแนวทางที่คณะผู้บริหารแผนและฝ่ายบริหารนำเสนอ คือ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ (ไทยสมายล์) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 99.99%
โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าว จะส่งผลให้เครื่องบินที่ปัจจุบันบริหารจัดการภายใต้ ไทยสมายล์ย้ายมาบริหารจัดการภายใต้ บริษัท ซึ่งการปรับโครงสร้างดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเจ้าหนี้แล้ว และ
ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานดังกล่าวรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัทคาดว่าจะมีการปรับโครงสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2566
ทั้งนี้ภายหลังการปรับโครงสร้าง บริษัทจะเป็นผู้บริหารจัดการดำเนินงาน การวางแผนฝูงบินการบริหารตารางบิน และวางแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการของฝูงบินทั้งของบริษัท และของไทยสมายล์ ภายใต้ AOC ของบริษัท ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น
โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มการบินของบริษัท ในหลายด้าน ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดเครือข่ายเส้นทางบินตอบสนองความต้องการ และความสะดวกของลูกค้าในการเชื่อมต่อได้มากขึ้น มีอัตราการใช้ประโยชน์อากาศยานสูงขึ้น และมีต้นทุนต่อหน่วยที่ลดลงจากการประหยัดต่อขนาด
รวมถึงสร้างเอกภาพในตราสินค้าของบริษัท และไทยสมายล์ และขจัดความไม่ชัดเจนของตำแหน่งการตลาดระหว่างกลุ่มธุรกิจการบินโดยการให้บริการและบริหารการดำเนินงานที่เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้บริษัท ทำให้สามารถลดต้นทุนการขายด้านค่าสื่อสารการตลาด มีความได้เปรียบในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน
นอกจากนี้ ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน รวมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลด้านการปฏิบัติการบินในส่วนของนักบิน และพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพื่อให้เกิดการบูรณาการระบบสนับสนุนการปฏิบัติการบินและทรัพยากรด้านต่างๆ ซึ่งส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการบริหารจัดการรายได้และค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างจะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการให้บริการต่อผู้โดยสายของสายการบินไทยสมายล์แต่อย่างใด เพราะบุคลากรของไทยสมายล์ ประกอบด้วยผู้บริหาร พนักงาน นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่อง รวมทั้งการให้บริการผู้โดยสายจะเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท อีกทั้งบริษัทได้ดำเนินการศึกษาข้อมูล และผลกระทบด้านต่างๆ รวมถึงด้านการเงิน ด้านความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และด้านกฎหมายแล้ว ได้ข้อสรุปว่า การปรับโครงสร้างจะทำให้กลุ่มบริษัท สามารถบรรลุผลตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนการปฏิรูปธุรกิจได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์