‘เศรษฐา’ กับความท้าทายบนเก้าอี้นายกฯ ปรับโครงสร้าง - ยกระดับ เศรษฐกิจประเทศ
ความท้าทายของเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับความไม่แน่นอน และเหตุการณ์ไม่คาดฝันอยู่บ่อยครั้งทำให้ผู้นำประเทศจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตทั้งในการเตรียมพร้อมรับความเสี่ยง แสวงหาโอกาสให้กับประเทศ รวมถึงการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น
รัฐบาลปัจจุบันได้กำหนดเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ในระหว่างปี 2567-2570 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย โดยรัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งมีเแผนที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะยาว
เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลจึงต้องการยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคู่การรักษาสภาพแวดล้อมเพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “The Big Change: Empowering Thailand’s Economy” ในงาน “Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจไทยจากมุมมองของหลายคนอาจจะมองว่าเหมือนรถที่เก่า และวิ่งช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็จะเห็นปัญหาอุปสรรคที่ขีดกั้นไม่ให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราก็ไม่ควรพูดถึงรัฐบาลก่อนเพราะท่านเองก็มีปัญหา และข้อจำกัดแต่ตอนนี้ทั้งนี้ในช่วงที่มีเวลาที่จะแก้ไขปัญหานี้ถือเป็นเวลาของรัฐบาลนี้ซึ่งก็ต้องทำต่อไปให้ได้ดีที่สุด
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือเครื่องยนต์ของประเทศที่เดินช้ามาก และช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านเพราะในช่วงที่ผ่านมาหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งของไทยออกไปเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม ผู้นำของเขาเป็นเหมือนกับ “เซลล์แมน” ซึ่งหน้าที่ของผมก็เหมือนกันที่ต้องเป็น "เซลล์แมนเป็นเบอร์1 ของประเทศ" ที่ต้องออกไปสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามายังประเทศไทย
“หน้าที่ของผมก็คือเซลล์แมน ต้องออกไปขายความเชื่อมั่น ไปขายให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในประเทศไทยให้ได้ เป็นหน้าที่และภารกิจหลักที่จะทำให้ประเทศมีการลงทุนมากขึ้น เรื่องนี้ต้องช่วยกันทำในหลายๆภาคส่วน"
ทูตฯไทยช่วยเปิดตลาดการลงทุน
รวมทั้งต่อไปนี้เอกอัครราชทูตไทยที่ประจำอยู่ประเทศสำคัญต้องพบปะนักลงทุนมากขึ้น และจะต้องไม่กลัวนักลงทุน ต้องไม่กลัวที่จะเจอภาคเอกชน รัฐบาลต้องไม่กลัวเวลาเจรจาทวิภาคีกับต่างชาติต้องยอมที่จะให้นักธุรกิจไปด้วย โดยจะเห็นบริษัทที่มีความพร้อมจะไปโรดโชว์ในต่างประเทศ มีความภาคภูมิใจในการออกไปพบปะกับนักลงทุนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นที่ยุโรปหรือสหรัฐฯ
"ต้องอธิบายว่าเรามีนโยบายอย่างไร มีความเสี่ยงอะไรพูดให้หมดอธิบายให้เข้าใจ เป็นการออกไปเชื้อเชิญการไปบอกกล่าวว่าประเทศไทยคือสถานที่ที่เขาควรจะมาลงทุนเพราะเราไปในฐานะทีมไทยแลนด์ต้องมาช่วยกันพูดช่วยกันให้ความมั่นใจกับนักลงทุน”
สำหรับการปรับปรุงเรื่องอื่นเพื่อส่งเสริมการลงทุน เช่น ระบบกฎหมายที่ยังมีความซับซ้อน รวมทั้งไม่เอื้อให้เกิดการทำธุรกิจที่ตรงไปตรงมา ถามว่าเรื่องนี้ง่ายหรือไม่ ไม่ง่ายแต่ต้องมีความสนใจที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้
"บริษัทที่ผมไปเจอหลายบริษัทไม่ได้ลงทุนนอกประเทศเป็นครั้งแรกแต่ลงทุนในหลายหลายประเทศหลักการคิด และการที่ตกลงกับหลายประเทศเป็นหลักการที่เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมีหลักการอยู่เยอะบางหลักการก็ไม่เป็นอินเตอร์เราก็ต้องทำลายกำแพงตรงนี้ ให้ได้เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยเรามีความพร้อมที่จะเปิดประตูในการแข่งขันให้เต็มที่ ถือว่าเป็นภารกิจใหญ่ของประเทศไทยต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง"
การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มจากภาคเกษตร
สำหรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องเริ่มจากภาคที่มีคนอยู่มาก คือ ภาคเกษตรกรรมของไทยที่เป็นภาคส่วนที่น่าสงสารมากที่สุดภาคหนึ่งเพราะคนจำนวนมากยากจน และขาดความรู้ การที่เราต้องพักหนี้ 13 ครั้งในระยะเวลา 9 ปี และพักหนี้อีกเป็นครั้งที่ 14 ไม่ได้เป็นความประสงค์ของเกษตรกรเพราะตัวของเกษตรกรเองก็มีศักดิ์ศรี
"เกษตรกรเองก็อยากที่จะประกอบอาชีพอยากที่จะมีรายได้มีการใช้หนี้ใช้สินได้โดยที่รัฐบาลไม่ต้องช่วยเหลือจุนเจือ แต่เหตุผลที่เราต้องพักหนี้ พักแล้วพักอีกพักแล้วไม่จบก็เพราะมีปัญหาหลายด้านในภาคเกษตรและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร"
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว คือ การลดค่าของชีพ เช่น การพักหนี้เกษตรกรทำเป็นครั้งที่ 14 แต่รัฐบาลจะไม่ประกันราคาสินค้าเกษตรหรือการจำนำสินค้าเกษตร แต่จะเน้นรายได้สุทธิ รายได้เกษตรกร ซึ่งรายได้เกษตรจะเพิ่มขึ้นสามเท่าภายใน 4 ปีนี้ โดยการที่ไปเปิดตลาดใหม่ใหม่อย่างเช่นตลาดในแอฟริกาตลาดที่ไม่มีความมั่นคงในอาหารประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงในอาหารประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางอาหารสูงขึ้นอยู่ด้วยในอนาคตเราต้องสนับสนุนเขาต้องให้องค์ความรู้เกษตรกร เราต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ต้องสร้างมูลค่าให้กับสินค้าไทยเพื่อให้รายได้เข้ากระเป๋าเกษตรกรให้ได้มากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ประเด็นการบริหารจัดการน้ำ สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ น้ำไม่ท่วมไม่แล้ง โดยถ้าแก้ไขได้จะทำให้เศรษฐกิจไทยจะไปได้ไกลมากกว่านี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำเป็นเรื่องที่เราต้องทำทั้งระบบ โดยถ้าลงทุนในระบบน้ำและชลประทานทุก 100 บาท เช่น การลงทุนไม่ท่วมไม่แล้ง เงินจะอยู่ในประเทศ 90% เพราะใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนเป็นเทคโนโลยีในประเทศ
ส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรม จะต้องมีการพิจารณาแก้ปัญหาน้ำในอุตสาหกรรม เพราะหากกำลังที่กำลังเชิญชวนเอกชนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนซึ่งในเรื่องของไฮเทคเทคโนโลยีแต่เรื่องของอิเล็กทรอนิกส์มีความต้องการน้ำอย่างมาก
"รัฐบาลต้องให้ความมั่นใจและให้เขามีความมั่นใจได้ในเรื่องน้ำรัฐบาลต้องให้ความมั่นใจและให้เขามีความมั่นใจได้ในเรื่องน้ำถ้าหากทำให้มั่นใจไม่ได้ก็จะมีปัญหาในเรื่องการดึงดูดนักลงทุน"
รวมทั้งเวลาเดินทางไปต่างประเทศไปคุยไปติดต่อกับบริษัทขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ กูเกิล เทสลา รวมถึงการดึงลงทุนไมโครชิพที่กำลังจะทำต่อจากนี้ เป็นการลงทุนนับล้านล้านบาท
"อยากให้เขาเข้ามาและยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้สูงขึ้นเพื่อทำให้จีดีพีของเราโตให้ได้ไม่ยังงั้นจีดีพีของเราจะโตไม่ได้ไม่ยังงั้นขีดความสามารถในการแข่งขันของเราจะเติบโตไม่ได้"