"เศรษฐา" สั่งเร่งเปิด "เหมืองโปแตช" พร้อมเปิดโอกาสรายใหม่หากโครงการล่าช้า
"เศรษฐา" สั่งเร่งเหมืองโปแตช เปิดทางผู้เล่นรายใหม่หากเจ้าของสัมปทานเดิมไม่สามารถเปิดหน้าเหมืองได้ ขณะสมาคมปุ๋ย เผยไทยนำเข้าปีละ 4 ล้านตัน ปัจจุบันราคาทรงตัว ผลภัยแล้ง ขณะราคาหุ้นเหมืองแร่พุ่ง
นายชัย วัชรงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 พ.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากโครงการมีความล่าช้า
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวในที่ประชุม ครม.ว่าประเทศไทยมีแร่โปแตชอยู่มากในพื้นที่ภาคอีสาน ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ ไปจนถึงนครราชสีมาตอนบน โดยแร่โปแตชนั้นถือว่าเป็นในหนึ่งใน 3 แร่ที่สำคัญที่ใช้ในการทำปุ๋ย หรือทำเป็นแม่ปุ๋ย ปัจจุบันในโลกมีประเทศที่ผลิตปุ๋ยจากโปแตชเป็นอันดับ 1 คือประเทศแคนาดา ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณแร่โปแตชมากเป็นอันดับสองของโลก
ในปัจจุบันมีผู้ได้ประธานบัตรในการทำเหมืองแร่โปแตชไปแล้ว 3 ราย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะเปิดพื้นที่ทำเหมืองได้ โดยหนึ่งในผู้ที่ได้สัมปทานไปนั้น ถือสิทธิอยู่นานถึง 8 ปีแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถที่จะขุดแร่ขึ้นมาได้ ส่วนอีก 2 บริษัทที่ได้สัมปทานนั้นมีการรายงานว่าบริษัทหนึ่งติดปัญหาเรื่องเงินทุนในการดำเนินกิจการ ส่วนอีกรายนั้นติดปัญหาเรื่องของเงินทุนเช่นกัน
เปิดทางรายใหม่รับสัมปทาน
“นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมให้ไปศึกษาดูว่าหากรายเดิมที่ได้รับสัมปทานไปแล้วไม่สามารถนำเอาโปแตชที่เป็นสินแร่ที่มีประโยชน์และเป็นที่ต้องการของประเทศและโลกนั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ก็ให้ไปดูว่าจะมีวิธีการที่จะมีผู้เล่นใหม่ที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นผู้พัฒนาแหล่งแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้หรือไม่”
รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ไทยมีสำรองแร่โปแตชสูงสุดเป็นอันดับ4ของโลกอยู่ที่4แสนล้านตัน รองจากแคนาดา เบลารุสและเยอรมนี ตามลำดับ โดยพื้นที่ประเทศไทยสามารถพบแหล่งแร่โปแตชขนาดใหญ่ได้ใน2แหล่งคือแอ่งสกลนครประกอบด้วย สกลนคร หนองคาย อุดรธานีและนครพนมและแอ่งโคราชประกอบด้วยขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมาและชัยภูมิ
โดยข้อมูลมีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โพแทชจำนวน3รายซึ่งได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่แวดล้อม(EIA)และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้แก่บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียนจำกัด(มหาชน)จ.ชัยภูมิเนื้อที่9,707ไร่กำลังการผลิต1.1ล้านตันต่อปี
อีกทั้งมีผู้ยื่นคำขอขยายอายุอาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่โพแทช 1ราย คือบริษัทหมิงต๋าโปแตชคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย)จำกัดโดยบริษัทเคยได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชจำนวน12คำขอเนื้อที่116,875ไร่
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510แบ่งออกเป็น3ขั้นตอนได้แก่ขั้นตอนที่1การดำเนินการคำขอประทานบัตรในพื้นที่ ขั้นตอนที่2การพิจารณาอนุญาตประทานบัตรของกระทรวงอุตสาหกรรมและขั้นตอนที่3การอนุญาตให้เปิดการทำเหมือง
ปมระดมทุนทำโปรเจคไม่คืบ
มี2บริษัทที่มีความพร้อมในการเตรียมเปิดการทำเหมืองได้แก่บริษัท เหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด(มหาชน)และบริษัท ไทยคาลิจำกัด ซึ่งได้ปิดประกาศตามพ.ร.บ.แร่ 2510 โดยไม่มีการร้องเรียนคัดค้านและมีการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งไม่มีเสียงคัดค้านรวมทั้งได้ลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนแล้ว
“แต่ทั้งสองบริษัทยังติดปัญหาไม่สามารถระดมทุนเพื่อประกอบกิจการได้ตามแผนที่กำหนดซึ่งทางเอกชนออกความเห็นว่ารัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าเห็นด้วยและต้องการสนับสนุนโครงการดังกล่าวเพื่อให้เกิดการลงทุนได้เร็วส่วนอีกแห่งพบแหล่งน้ำใต้ดินจึงไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ซึ่งจากการสำรวจแร่ถือว่าเป็นพื้นที่มีแร่โพแทชคุณภาพต่ำโดยมีสัดส่วนแร่1ส่วนต่อเกลือ6ส่วน”
ขณะที่บริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัดอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนที่1สำรวจพบสัดส่วนแร่1ส่วนต่อเกลือ2ส่วนและถือเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในจำนวนคำขอทั้งหมด ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่าโครงการเหมืองแร่ดังกล่าวที่จังหวัดอุดรธานีมีการร้องเรียนคัดค้านในขั้นตอนการขอประทานบัตรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประเด็นสำคัญได้แก่การทรุดตัวของผิวดินจากการทำเหมือง ปัญหาดินเค็มน้ำเค็มฝุ่นเกลือและกองเกลือบนผิวดิน
หุ้นเหมืองแร่ดีดแรงรับข่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บมจ. ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC)ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ของบริษัท บมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ ( APOT) ในช่วงเช้าวานนี้ (7 พ.ย.)ราคาหุ้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ แต่หลังจากที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเดินหน้าโครงการลงทุนเหมืองโปแตซ เพื่อแก้ไขปัญหาปุ๋ยแพงและสำรองซัพพลายวัตถุดิบผลิตปุ๋ย ส่งผลให้การเปิดซื้อขายหุ้นช่วงบ่าย ราคาหุ้นTRC พุ่งแรง แตะ 0.45 บาท ก่อนจะกลับมาปิดตลาดที่ระดับสูงสุดของวันที่ 0.46 บาท เพิ่มขึ้น 0.05 บาท หรือ 12.20%
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้น TRC นั้นพักฐานมานานแล้ว ซึ่งธุรกิจเหมืองโปแตซนั้นถือว่าเป็นอัปไซด์ของราคาหุ้นTRC หากนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นได้ แต่หากเข้ามาถือยาวนั้นนักลงทุนต้องเตรียมเงินไว้อีกส่วนหนึ่งเพื่อใส่เงินเพิ่มทุน
ทั้งนี้เป็นผลจากที่ผ่านมาTRC ขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ซึ่ง6 เดือนแรกปีนี้ขาดทุนสุทธิ180.59 ล้านบาท ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นลดลงเหลือ117.93 ล้านบาท จากปีก่อนที่300.37 ล้านบาท หากยังคงขาดทุนต่อเนื่องในไตรมาสถัดไปจะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบส่งผลต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ หากไม่เพิ่มทุนรวมถึง TRC เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อาเซียนโปแตชชัยภูมิสัดส่วน 25.13% และอาเซียนโปแตชชัยภูมิ มีแผนใช้เงินลงทุนค่าก่อสร้างเพื่อดำเนินธุรกิจเหมืองมูลค่า40,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ เงินลงทุนตามสัดส่วนของTRCอยู่ที่ 4,020.24 ล้านบาท ดังนั้นคาดว่าTRC ต้องมีการเพิ่มทุนส่วนหนึ่งก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินสบายใจในการปล่อยกู้ เพราะปัจจุบัน TRC มีหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 33 เท่า
ไทยนำเข้าปุ๋ยปีละ 4 ล้านตัน
นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตร กล่าวว่า เนื่องจากในปีนี้ไทยประสบภัยแล้งเป็นส่วนใหญ่ และมีน้ำท่วมในบางพื้นที่ ประกอบกับเศรษฐกิจในประเทศยังชะลอตัว ทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีในปีนี้ลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยมีการนำเข้าประมาณ4 ล้านตัน ในขณะที่ราคาปุ๋ยตั้งแต่ต้นปีปรับลดลง ถึงปัจจุบันที่สต๊อกของแต่ละประเทศไม่เคลื่อนไหว ทำให้ราคาในตลาดปุ๋ยอยู่ระดับทรงๆ ตัว
“สถานการณ์การเดินเรือ สงครามรัสเซีย- ยูเครน เริ่มคลี่คลายทำให้ราคาปุ๋ยอยุ่ในระดับที่ทรงตัวไม่ปรับขึ้นลง แรง ยกเว้นตัวฟอสเฟส ที่ราคาแพงขึ้นจากความต้องการของอินเดีย ในขณะที่สงครามในตะวันออกกลางยังไม่กระทบ ทำให้โดยรวมราคาปุ๋ยปีนี้ไม่สูงมาก ที่สำคัญต้องระวังเรื่องค่าเงินบาท ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น “