'นลินี' เร่งอุตฯเซมิคอนดักเตอร์ กล่อม 'ชาร์ป' ดึง'ฟ็อกซ์คอนน์ลงทุนไทย
“นลินี”กล่อมชาร์ปดึง “ฟ็อกซ์คอนน์” บริษัทแม่ลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ในไทย ลงทุนโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ในไทย พร้อมเปิดสถาบันรีสกิล อัพสกิล ในอีอีซี มั่นใจมีการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคเพิ่มต่อเนื่อง
บริษัทชาร์ปมีการทำธุรกิจ และลงทุนในประเทศไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1987โดยถือว่าเป็นบริษัท และแบรนด์สินค้าที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดีและบริษัทยังมุ่งมั่นที่จะมีการลงทุนในประเทศไทยต่อไปโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมไฮเทคที่ประเทศไทยต้องการให้มีการลงทุนมากขึ้นด้วย
ปัจจุบันบริษัทชาร์ปมีเจ้าของคือบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ เซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลก สัญาชาติไต้หวัน ที่ได้เข้าซื้อหุ้นกิจการของ “ชาร์ป” (Sharp)ไปตั้งแต่ปี 2559
นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยหลังหารือกับ คณะผู้บริหาร บริษัทชาร์ป ไทย จำกัด ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (8 พ.ย.) ว่าไทยมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับฟ็อกซ์คอนน์ในหลายๆด้านและอยู่ระหว่างที่เจรจราให้บริษัทนี้เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานการผลิต
เซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทยเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่ใช้ชิปและเซมิคอนดักเตอร์ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในประเทศ หาก
ฟ็อกซ์คอนน์เข้ามาลงทุนได้จริงก็ถือว่าเป็นผลดีเพราะจะมีการลงทุนในสาขาที่เกี่ยวข้องในซัพพายเชนอีกมาก
ทั้งนี้ ผู้บริหารชาร์ปได้มีการสอบถามถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ประเทศไทยให้การสนับสนุนในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งสอบถามเรื่องของมาตรการในการสนับสนุนการตั้งศูนย์การฝึกอบรมทักษะ และการเพิ่มความสามารถของแรงงานไทย ซึ่งชาร์ปสนใจที่จะตั้งศูนย์การฝึกอบรมทักษะแรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และในพื้นที่อื่นๆด้วยซึ่งได้บอกว่าประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ที่สามารถให้โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ได้กำหนดสิทธิประโยชน์ไว้ รวมทั้งมีเงื่อนไขที่สามารถกำหนดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้หากเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป
“ชาร์ปได้ยืนยันการลงทุนต่อเนื่องในประเทศไทย โดยในส่วนของการลงทุนใหม่จะเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต โดยได้มีการเล่าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องซักผ้าที่มีการรีไซเคิลน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งในโอกาสการเฉลิมฉลองการก่อตั้งบริษัทชาร์ปประเทศญี่ปุ่น 111 ปี ที่จะมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ผู้บริหารได้เรียนเชิญตนเองไปเยี่ยมชมเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆของชาร์ปที่จะจัดแสดงที่ญี่ปุ่น ซึ่งจะได้มีโอกาสหารือความร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูงของชาร์ปรวมทั้งฟ็อกซ์คอนน์เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะดึงการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยต่อไป”
ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเทรนด์ดิจิทัลและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ข้อมูลจาก Economic Intelligence Center (SCB EIC)ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่าปัจจุบัน
ชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำได้กลายเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่เข้าไปมีบทบาทในการผลิตสินค้าชั้นปลายในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้า
ข้อมูลของ McKinsey & Company ที่ระบุว่า ความต้องการเชมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลกของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2020 และปี 2021 โดยมีมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมเชมิคอนดักเตอร์โดยรวมขยายตัวอยู่ที่11.2% และ27.3% ตามลำดับ และคาดว่าในช่วงระหว่างปี 2022-2030จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 7% ต่อปี
โดยได้รับปัจจัยหนุนหลักจากความต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Automotive electronics) อุตสาหกรรมการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูล (Computing and data storage) และอุตสาหกรรมการสื่อสารไร้สาย (Wireless communication) ส่งผลให้ปัจจุบันหลายประเทศมีนโยบายในการแย่งชิงและดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศต่างๆเพื่อให้บริษัทชั้นนำด้านเซมิคอนดักเตอร์เข้าไปลงทุนในประเทศ
อย่างไรก็ตามปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์โลกได้เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่สงครามการค้า (Trade war)ระหว่างจีนกับสหรัฐ ในปี 2018 ก่อนจะลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นสงครามเทคโนโลยี (Tech war) ในเวลาต่อมา โดยในปี 2019 หลังรัฐบาลสหรัฐ ออกคำสั่งยกเลิกการนำเข้าอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ เทคโนโลยี 5G ของ Huawei ด้วยความกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล
ปี 2022 ที่บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของจีน (SMIC) ถูกกีดกันการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
เซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง และบริษัทผู้ผลิตเชมิคอนดักเตอร์ประเภท NAND flash ของจีน (YMTC) ถูกเพิ่มในบัญชีดำของสหรัฐจนส่งผลให้บริษัท Apple ที่วางแผนจะใช้เซมิคอนดักเตอร์ ของจีน (YMTC) ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้เซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้ (Samsung) แทน
“การเคลื่อนตัวทางการค้ามีหลายปัจจัย แม้แต่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างเซมิคอนดักเตอร์ก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นจุดเด่นของไทยที่ไม่มีปัจจัยอ่อนไหวเรื่องนี้ดังนั้นหากไทยเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้วก็จะยกระดับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้ และนั่นหมายถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกมหาศาล