วัดใจรัฐบาล ควักเงินกว่า 4 หมื่นล้าน ตรึงค่าไฟ ม.ค.-เม.ย. 67 ที่ 3.99 บาท
วัดใจรัฐบาล ควักเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ตรึงค่าไฟฟ้ารอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 3.99 บาท ล่าสุด กกพ. เคาะ 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4.68 - 5.95 บบาท
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกพ. เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 อยู่ที่ 64.18 สตางค์ต่อหน่วย จากปัจจัยแนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ตลาดโลกสูงขึ้นตามปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น จึงให้สำนักงาน กกพ. รับฟังความคิดเห็นในกรณีต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 10 – 24 พ.ย. 2566 มี 3 ทางเลือก
กรณี1 ค่าเอฟที 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 95,777 ล้านบาท ในงวดเดียว รวมเป็น 216.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเป็น 5.95 บาทต่อหน่วย
กรณีที่ 2 เอฟที 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกฟผ.ใน 1 ปี จาก 95,777 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 งวดๆ ละ 31,926 ล้านบาท รวมเท่ากับ 114.93 สตางค์หน่อย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานต้องจ่ายค่าไฟ 4.93 บาทต่อหน่วย
และกรณีที่ 3 เอฟที 64.18 สตางค์ต่อหน่วย และจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างกฟผ. ใน 2 ปี จาก 95,777 ล้านบาท แบ่งเป็น 6 งวด ๆ ละ 15,963 ล้านบาท รวมเท่ากับ 89.55 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน ต้องจ่ายค่าไฟรวม 4.68 บาทต่อหน่วย
นายคมกฤช กล่าวว่า กกพ. ยังรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงเดือนพ.ค.-ส.ค. 2566 พบแอลเอ็นจีตลาดโลกปรับตัวลดลงในช่วงกลางปีที่ผ่านมาส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการ และได้เงินส่งคืนส่วนต่างราคาก๊าซจากการดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2565 ที่กำหนดให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องคิดค่าก๊าซในรอบมกราคม-เมษายน 2566 ตามราคาประมาณการ
ทั้งนี้ ทำให้มีเงินค่าต้นทุนส่วนเกินก๊าซนำมาคืนเป็นส่วนลดค่าก๊าซในรอบดังกล่าวเพิ่มเติม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงมีค่าต่ำกว่าประมาณการ ทำให้ปลายเดือนส.ค. 2566 กฟผ. มีภาระต้นทุนคงค้างลดลงเหลือ 95,777 ล้านบาท จึงนำมาใช้คำนวณการคิดค่าเอฟทีครั้งนี้
รายงานข่าวจากสำนักงาน กกพ. แจ้งว่า หากรัฐบาลต้องการตรึงค่าไฟฟ้าให้อยู่ระดับ 3.99 บาทต่อหน่วย เบื้องต้นจากกรณีการขึ้นค่าไฟต่ำที่สุด คือ 4.68 บาทต่อหน่วย เท่ากับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 69 สตางค์ต่อหน่วย การอุดหนุนทุก 1 สตางค์จะใช้เงิน 600 ล้านบาท เท่ากับรัฐบาลจะต้องใช้วงเงินอุดหนุนถึง 41,400 ล้านบาท ซึ่งต้องดูว่าจะหาแหล่งเงินจากที่ใด เพราะถือเป็นวงเงินที่ค่อนข้างสูง หากจะใช้วิธียืดหนี้กฟผ.อีก ก็ต้องดูความพร้อมและสถานะการเงินประกอบด้วย