'เศรษฐา' ดึง ‘ไมโครซอฟท์’ ลงทุนแสนล้าน ลุยดาต้าเซ็นเตอร์ พลังงานสะอาด

'เศรษฐา' ดึง ‘ไมโครซอฟท์’ ลงทุนแสนล้าน ลุยดาต้าเซ็นเตอร์ พลังงานสะอาด

'เศรษฐา' ดึงบิ๊กคอร์ประดับโลกลงทุนไทย 'เทคคอมปานี-EV' โชว์แผนความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน จ่อเอ็มโอยู ‘ไมโครซอฟท์’ ลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ พลังงานสะอาดในไทยเฟสแรกแสนล้าน

เกาะติดภารกิจนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐ เพื่อร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ได้หารือภาคเอกชนระดับโลกหลายรายเมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 เพื่อสนับสนุนความร่วมมือการค้าการลงทุน โดยเฉพาะหารือกับบิ๊กเทคระดับโลกอย่าง เทสลา ไมโครซอฟท์เพื่อดึงการลงทุนมาไทย

นายกรัฐมนตรี และคณะเยี่ยมชมบริษัท Tesla ณ Tesla Fremont Factory โดย Tesla ดำเนินธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และด้านพลังงานชั้นนำของโลก มีโรงงานที่เมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ผลิต Model S, Model 3, Model X, Model Y

ทั้งนี้ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนในไทยวันที่ 25 เม.ย.2565 และกำลังศึกษาขยายลงทุนในเอเชีย

บุกเทสลา-บิ๊กเทคฯโลก

สำหรับการหารือครั้งนี้ครอบคลุมความร่วมมือที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ทั้ง EV และพลังงานสะอาด โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่าความร่วมมือนี้จะตอกย้ำถึงความเป็นศูนย์กลาง EV และพลังงานทดแทนของไทย และพร้อมหวังว่า Tesla จะร่วมลงทุนในไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีหารือผู้บริหารบริษัท HP ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแล็ปท็อป กลุ่มเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์ขนาดใหญ่ของโลก โดยเชิญมาขยายฐานการผลิตในไทยเพื่อพัฒนาซัพพลายเชนและตั้งสำนักงานภูมิภาค

รวมทั้งเพิ่มการผลิตในไทย ซึ่งไทยพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค รวมถึงมีนโยบายในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยเชิญมาร่วมเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษา และมาร่วมพัฒนาแลนด์บริดจ์ที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อแผนพัฒนาซัพพลายเชนของบริษัท

ทั้งนี้ ได้หารือผู้บริหารบริษัท Analog Devices, Inc. หรือ ADI ผู้ผลิตวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) รายใหญ่ระดับโลกที่ออกแบบและผลิตแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่ออกแบบวงจรผลิตแผ่นเวเฟอร์ ซึ่งเป็นต้นน้ำของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการเชื่อมประกอบเพื่อผลิตเป็นชิป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ ADI ขยายการลงทุนในไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด และมีศักยภาพการอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับบริษัทฯ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัทอย่างเต็มที่ โดยสถาบันการศึกษาไทยพร้อมทำงานกับบริษัทฯ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการออกแบบวงจรผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่ ADI ต้องการ

เอ็มโอยู ‘ไมโครซอฟท์’ แสนล้าน

สำหรับความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (15 พ.ย.) นายเศรษฐา จะเซ็นเอ็มโอยูกับบริษัทไมโครซอฟท์ ลงทุนเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ และพลังงานสะอาดในไทย โดยคาดว่าจะลงทุนเฟสแรก 1 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ไทยมีคู่แข่งที่ไมโครซอฟท์ เตรียมแผนเข้าไปลงทุน คือ มาเลเซีย และเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ผู้บริหาร บริษัท ไมโครซอฟท์ นำโดย “นายอาห์เหม็ด มาซารี” ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย เข้ามาพูดคุยเพื่อเตรียมการลงนามเอ็มโอยูในเวทีเอเปค โดยไมโครซอฟท์ เห็นศักยภาพในประเทศไทยทั้งในด้านความพร้อมของ Clean energy และสิทธิประโยชน์ในการลงทุน ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงการนำเอไอมาเพิ่ม Productivity ของภาครัฐ การลงทุนเกี่ยวเนื่องและการอัปสกิล โดยเฉพาะ เอไอสกิลของคนไทย รวมทั้ง ไมโครซอฟท์ เชื่อว่าเอไอ จะทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลสามารถมี Insights ที่มากขึ้นได้และสร้าง Impact ให้กับประชาชนได้จริงๆ

จับตา Cloud for Sustainability

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความร่วมมือด้าน Clean energy ระหว่าง ไมโครซอฟท์ กับรัฐบาลไทยมีความเป็นไปได้ที่จะเกี่ยวข้องกับโซลูชั่น “Microsoft Cloud for Sustainability” ซึ่งเป็นกลุ่มบริการของไมโครซอฟท์ที่ช่วยให้ องค์กรรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG - environmental, social, governance) อย่างทั่วถึง

โซลูชั่นนี้ ช่วยขับเคลื่อนการวางแผนงานด้านความยั่งยืน ยกระดับประสิทธิภาพของเทคโนโลยีในองค์กร และลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในองค์กรเองและในเครือข่ายธุรกิจและหน่วยงานที่ทำงานร่วมกัน

ที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ นับเป็นองค์กรด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มีส่วนร่วมในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจด้านคลาวด์ที่มีศูนย์ ดาต้า เซ็นเตอร์ ให้บริการลูกค้าอยู่ทั่วทุกมุมโลก

โซลูชั่น Cloud for Sustainability จึงถูกพัฒนาขึ้น มีเป้าหมาย เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากระบบนิเวศภายในปี 2573 และตั้งเป้าต่อยอดภายในปี 2593 ปริมาณค่าก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจจะต้องเท่ากับ “0”