แจกเงินดิจิทัล รัฐบาลทำไม่ได้ ‘อย่าฝืน’
“เงินดิจิทัล” คือนโยบายหลักในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่าจะใช้งบประมาณแผ่นดินมาบริหาร แต่ล่าสุดอาจต้องยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 600,000 ล้านบาท ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่านโยบายนี้จะสำเร็จหรือไม่
คำมั่นสัญญาที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศในการหาเสียงเมื่อเดือน เม.ย.2566 ระบุถึง นโยบายดิจิทัล วอลเล็ต โดยจะใช้ระบบบล็อกเชนมาบริหารจัดการเพื่อแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยคนละ 10,000 บาท รวมทั้งพรรคเพื่อไทยได้รายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงรายละเอียดของ “นโยบายเงินสกุลดิจิทัล และดิจิทัล วอลเล็ต เพื่อประชาชน” ที่ใช้หาเสียง โดยแจกเงินคนละ 10,000 บาท แจกให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป วงเงินรวม 560,000 ล้านบาท
การกำหนดนโยบายดังกล่าวได้ชี้แจง กกต.ว่าจะใช้งบประมาณจากการบริหารงบประมาณแผ่นดินปกติ โดยจะเป็นการพัฒนา CBDC เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงินของประเทศ ซึ่งพรรคเพื่อไทยประเมินความเสี่ยงและผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายว่าต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมทั้งต้องการสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน และเมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.2566 ที่จะใช้นโยบายเงินดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
เมื่อรัฐบาลมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีที่ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารกระทรวงการคลังวันที่ 14 ก.ย.2566 พร้อมทั้งยืนยันการดำเนินนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต จะไม่มีการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน รวมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งมีการยืนยันมาตลอดว่ารัฐบาลจะไม่กู้เงินมาแจกประชาชน
การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วันที่ 10 พ.ย.2566 รับทราบแนวทางให้ยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 600,000 ล้านบาท โดยนำมาใช้ดำเนินการแจกเงินให้ประชาชน 500,000 ล้านบาท และนำมาเข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 100,000 ล้านบาท เป็นการประกาศแนวทางการดำเนินการครั้งสำคัญหลังจากที่ไม่สามารถใช้แนวทางตามวิธีการงบประมาณปกติได้ ทำให้ต้องออกกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลรับทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นไปได้ยากมากที่จะจัดสรรงบประมาณจากวิธีการงบประมาณปกติถึง 500,000 ล้านบาท สำหรับแจกประชาชน ซึ่งทำให้ท้ายที่สุดรัฐบาลตัดสินใจยกร่าง พ.ร.บ.เพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณา และถือเป็นความเสี่ยงครั้งสำคัญของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาถึงดุลการคลัง หนี้สาธารณะ รวมถึงความเสี่ยงของกรณีร่างกฎหมายไม่ผ่านรัฐสภา ถึงเวลานั้นนายเศรษฐา คงรู้อยู่แล้วว่านั่นจะเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาล