นักวิชาการชี้ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แค่นโยบายหาเสียง

นักวิชาการชี้ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แค่นโยบายหาเสียง

วงเสวนา "ดิจิทัลวอลเล็ต เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมไทย" มองดิจิทัล วอลเล็ต กลายเป็นนโยบายทางการเมือง ไม่ใช่แค่นโยบายเศรษฐกิจธรรมดา ชี้เพื่อไทยหลังชนฝา ไม่ทำตายแน่ แนะรัฐบาลทบทวนให้ดีว่าคุ้มค่าแล้วหรือไม่ ที่จะสร้างหนี้ตัวนี้ขึ้นมา

โดย ผศ. ดร.สุวิชา เป้าอารีย์  ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" มองว่านโยบายนี้ไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจธรรมดา แต่ตอนนี้กลายเป็นนโยบายทางการเมือง และเป็นสัญญาประชาคมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยไปแล้ว เพราะตั้งแต่วันที่ประกาศว่าจะแจก ก็มีคำถามต่างๆตามมาทันที  และเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็มีคนจำนวนหนึ่ง เริ่มออกมาต่อต้าน


ซึ่งนิด้าโพลได้ทำผลสำรวจออกมาว่าดิจิทัล  วอลเล็ต  ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ โพลแรกที่ออกมาทำให้เห็นว่า แม้คนจะมีความกังวล แต่ก็อยากให้เพื่อไทยไปต่อ และหากไม่ทำคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทยจะลดลง ซึ่งสัญญาณต่างๆที่ออกมา ทำให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือกอีกแล้วกับนโยบายนี้ ต้องเดินหน้าอย่างเดียวแบบหลังชนฝาแล้ว

แต่หลังจากนั้นเมื่อทำโพลที่ 2 ตอนช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน และครั้งที่ 3 ประมาณช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงที่มีการพูดถึงการกู้เงิน 500,000 ล้าน และเรื่องหลักเกณฑ์การแจกเงิน คุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินออกมา ผลสำรวจพบว่าคนส่วนใหญ่มีความกังวล คนที่เห็นด้วยลดลง  สะท้อนว่าคนตกใจเรื่องการกู้เงิน และกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งมองย้อนไปตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครในพรรคเพื่อไทยที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ให้ประชาชนเข้าใจได้อย่างง่ายๆ แบบที่ใช้ภาษาบ้านๆ ไม่ว่าจะเป็นภาระที่จะเกิดขึ้น หลังจากที่กู้แล้ว ผลกระทบต่างๆ แนวทางในระยะยาว

อย่างไรก็ตามส่วนตัวแล้วเชื่อว่าสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะอย่างไร พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้านโยบายนี้ต่อไปแน่นอน

ด้าน ผศ. ดร.ชยกฤต อัศวธิตานนท์ คณบดีวิทยาลัย นวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่าคำว่า "วิกฤตเศรษฐกิจ" ในความหมายของรัฐบาลเป็นอย่างไร ที่ทำให้รัฐบาลมองว่าจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการจ่ายเงินลงไปจำนวนมากแบบนี้ หรือรัฐบาลอาจมีข้อมูลที่ลึกกว่า เพราะหากเป็นการตีความแบบเดิมอย่างที่เราเข้าใจกัน ภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ก็ยังไม่ถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤตเท่าไหร่

นอกจากนี้ยังมองว่าการที่รัฐบาลจะกู้เงินมาสร้างหนี้ จะทำให้หนี้สาธารณะรวมอยู่ที่ 70% เต็มเพดาน หากมีเหตุวิกฤตจำเป็นต้องมีการกู้เงิน จะเหลือเงินฉุกเฉินที่สามารถกู้ได้ประมาณ 4% กว่าๆ หรือไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท  ซึ่งที่ผ่านมาเรามีวินัยทางการเงินการคลังมาตลอด ไม่เคยถูกลดลำดับความน่าเชื่อถือ

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาล อาจต้องย้อนกลับมาทบทวน เเละต้องไม่ลืมว่าข้อจำกัดของการก่อหนี้ คือการชดใช้ และภาระผูกพันทางดอกเบี้ย ที่จะทำให้ไม่สามารถกู้หรือหาเงินมาเพื่อใช้ทำอย่างอื่นได้ หากมีความจำเป็นในอนาคต

 

ขณะที่ ดร.ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร หรือ ดร โจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล

กล่าวว่าการกู้เงินเพื่อที่จะมาใช้ในนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ยังมีขั้นตอนต่างๆที่รัฐบาลต้องผ่านไปให้ได้ เช่น ขั้นตอนของกฤษฎีกา หากผ่านกฤษฎีกาได้ก็ต้องรอดูอีกว่าจะผ่านขั้นตอนของรัฐสภาได้หรือไม่  หากใช้ช่องทาง fast track ก็ยังมีกระบวนการที่จะเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ และยังมีความเสี่ยงการถูกปัดตก นอกจากนี้ยังมีปัญหาจาก การไปยื่นคำร้องของบุคคลอื่นๆ

ซึ่งการกู้เงินมาตามหลักการจะเป็นการก่อหนี้สาธารณะอย่างหนึ่ง คำถามที่น่าสนใจในวันนี้คือเป็นสิ่งที่คุ้มค่าแล้วหรือยังที่จะสร้างหนี้ตัวนี้ขึ้นมา หากตนเป็นรัฐบาล ยืนยันว่าจะไม่ทำเรื่องนี้อย่างแน่นอน แต่จะนำเงินไปสร้างอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่าการกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อมาแจกเงินเพียงครั้งเดียว