'กรมราง' โชว์โมเดลเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามพื้นที่ เริ่มต้น 20 บาท

'กรมราง' โชว์โมเดลเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามพื้นที่ เริ่มต้น 20 บาท

“กรมราง” โชว์โมเดลกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าใหม่ เล็งเสนอเก็บตามพื้นที่ สตาร์ตราคา 20 บาท คาดศึกษาแล้วเสร็จ ก.พ.ปีหน้า ชี้ผลบวกนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท หนุนผู้โดยสารพุ่งสูงสุด 25%

นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์ขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง โดยระบุว่า การสัมมนาครั้งนี้เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปสู่การหาข้อสรุปรูปแบบการกำหนดอัตราค่าโดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เมืองภูมิภาค และการเดินทางระหว่างจังหวัด

โดยเบื้องต้นจากการวิเคราะห์การปรับค่าแรกเข้า และอัตราค่าโดยสาร พบว่ารูปแบบที่เหมาะสมในการกำหนดอัตราค่าโดยสารควรให้ภาครัฐลงทุน และให้เอกชนรับจ้างเดินรถ ในลักษณะเดียวกันกับการบริหารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพราะทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดค่าโดยสารได้ ซึ่งจะสามารถคุมราคาค่าโดยสารที่เหมาะสม และไม่เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน

ขณะที่อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม สำหรับรถไฟฟ้าในเมือง ผลการศึกษาพบว่าค่าแรกเข้าอยู่ที่ 14 บาท และคิดอัตราค่าโดยสาร 2 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนรถไฟความเร็วสูง ค่าแรกเข้าจะอยู่ที่ 95 บาท และอัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 1.73 บาทต่อกิโลเมตร

นอกจากนี้การศึกษาแนวทางกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ยังมีแนวคิดทำหลักเกณฑ์กำหนดอัตราค่าโดยสารตามพื้นที่ (Zone fare) โดยหากอยู่ในโซนแรกจะคิดอัตราค่าโดยสารโซนแรก 20 บาท เช่น โซนของสายสีน้ำเงินในปัจจุบันที่มีคนเดินทาง 70% ของคนกรุงเทพฯ ส่วนโซนที่ 2 ซึ่งมีพื้นที่ห่างออกไปจะคิดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดในอัตรา 25 บาท และโซนที่ 3 คิด 30 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ ยอมรับว่าปัจจุบันยังไม่มีพระราชบัญญัติขนส่งทางรางพ.ศ.... เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงทำให้หลักเกณฑ์กำหนดราคาค่าโดยสารนั้นจะยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันที

แต่กรมฯ คาดว่าจะสามารถรวบรวมผลการศึกษา และการสอบถามความเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนี้ จัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเสนอรัฐบาลพิจารณาภายในเดือนก.พ.2567 เพื่อเตรียมความพร้อมหากพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ.... ประกาศใช้ รวมทั้งจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้เอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าได้ศึกษา

นายอธิภู กล่าวด้วยว่า นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการปรับลดอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น ปัจจุบันเริ่มดำเนินการส่วนที่รัฐเป็นเจ้าของสัมปทาน 2 โครงการ และพบว่ายอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย รถไฟชานเมืองสายสีแดง วันเสาร์-อาทิตย์ ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 25% หากเป็นวันทำงานเพิ่มขึ้น 15%

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีม่วง พบว่าการเดินทางช่วงวัน​เสาร์-อาทิตย์ ผู้โดยสาร​เพิ่มขึ้น 5% หากเป็นวันทำงานเพิ่มขึ้น 15% แสดงให้เห็นว่านโยบายนี้ดำเนินการได้ และเป็นประโยชน์ที่สามารถเพิ่มปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารได้ ซึ่งในอนาคตหลังจากนี้กรมฯ จึงมองว่ารูปแบบที่เหมาะสมจะสนับสนุนนโยบายนี้ ยังเป็นการให้รัฐเป็นเจ้าของสัมปทาน และจ้างเอกชนในการเดินรถ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์