'ปตท.' มุ่งสู่พลังงานแห่งอนาคต คาดราคาน้ำมันดิบปี 67 ระดับ 75 - 85 ดอลลาร์
ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท.ร่วมกับ กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ผนึก สอท. เดินหน้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต และคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 67 อยู่ที่ระดับ 75 - 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2567 อยู่ที่ 75 - 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ยังต้องจับตานโยบายควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดิบ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของกลุ่มประเทศตะวันตก ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งการแสวงหาโอกาส และแนวทางปรับตัวของกลุ่มบริษัทพลังงานในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา 2023 The Annual Petroleum Outlook Forum ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Change for Chance: ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ สู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต” พร้อมเปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 45 ปี ปตท. ยังคงมุ่งมั่นรักษาความมั่นคงด้านพลังงานพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ขับเคลื่อนกลยุทธ์สู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โลก และเตรียมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้ายังมีทิศทางเพิ่มขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ กำลังซื้อในสหรัฐอเมริกา การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยุโรป และการใช้น้ำมันในภาคการบินของจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ ขณะเดียวกัน อุปสงค์น้ำมันยังคงเติบโตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาการนำเข้าพลังงานฟอสซิล อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและกฎหมายรองรับ มีส่วนทำให้อุปทานน้ำมันเติบโตอย่างจำกัด โดยคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันในปี 2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันในปี 2567 อยู่ที่ 75 – 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ร่วมผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ มุ่งบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนด ถือเป็นความท้าทายในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง แต่โลกยังต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างรัสเซีย และยูเครน สหรัฐอเมริกากับจีน สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องในประเทศจีนจากการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงโดยสร้างกฎระเบียบให้เข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ของประเทศต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต ให้เกิดความยั่งยืนด้านพลังงาน จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ประการ หรือ “Energy Trilemma” คือ
1. ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) คือ การจัดหาพลังงานพื้นฐาน และความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต
2. ความเป็นธรรมทางพลังงาน (Energy Equity) คือ การจัดหาพลังงานที่สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม
3. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) เป็นการจัดหาพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ต่ำ นับเป็นความท้าทายของกลุ่มบริษัทพลังงาน ในการปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จึงเป็นที่มาของแนวคิด “Change for Chance: ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ สู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต” ของงานสัมมนาในปีนี้ โดยนักวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน กลุ่ม ปตท. หรือ “PRISM Experts” ยังคงมุ่งมั่นนำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์ทิศทางราคาน้ำมัน รวมถึงความท้าทายที่อุตสาหกรรมพลังงานต้องเผชิญ
ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Enable Everyone’s Engagement in Energy Transition” และ นายสุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Thailand is Ready for EV’s Supply Chain?” วิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกลยุทธ์และความท้าทายของการเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ
สำหรับงานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อนำเสนอบทวิเคราะห์ และแนวโน้มทิศทางราคาน้ำมัน สถานการณ์พลังงาน และความท้าทายที่กระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลก โดยทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน หรือ “PRISM Experts” ที่ได้ดำเนินงานต่อเนื่อง เป็นปีที่ 12
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์