ปตท. จับตาภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจโลก หนุนน้ำมันปีหน้า75-85ดอลลาร์

ปตท. จับตาภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจโลก หนุนน้ำมันปีหน้า75-85ดอลลาร์

ปตท.มองราคาน้ำมันดิบปีหน้า 75-85 ดอลลาร์ จับตานโยบายควบคุมกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัส มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน นโยบายการเงินที่เข้มงวดของตะวันตก เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ รวมทั้งการแสวงหาโอกาสและแนวทางปรับตัวของกลุ่มบริษัทพลังงานยุค Energy Transition

ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. โดย PRISM Experts ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันในปี 2567 ที่เผชิญความท้าทายจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก เพื่อนำเสนอบทวิเคราะห์และแนวโน้มทิศทางราคาน้ำมัน โดยทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน หรือ “PRISM Experts” ที่ดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 12

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา 2023 The Annual Petroleum Outlook Forum จัดภายใต้แนวคิด “Change for Chance: ปรับ เปลี่ยน เพื่อไปต่อ สู่ยุคพลังงานแห่งอนาคต” ว่า ตลอดเวลา 45 ปี ปตท.มุ่งมั่นรักษาความมั่นคงด้านพลังงานพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย โดยขับเคลื่อนกลยุทธ์สู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและขยายสู่ธุรกิจใหม่ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โลกและเตรียมรับมือกับความท้าทายทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ปตท. จับตาภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจโลก หนุนน้ำมันปีหน้า75-85ดอลลาร์

ทั้งนี้ แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันปี 2567 มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ กำลังซื้อในสหรัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป และการใช้น้ำมันในภาคการบินของจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ ขณะเดียวกันอุปสงค์น้ำมันยังคงเติบโตในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งการนำเข้าพลังงานฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมเทคโนโลยีและกฎหมายรองรับ มีส่วนทำให้อุปทานน้ำมันเติบโตอย่างจำกัด โดยคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันปี 2567 จะเติบโตเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันปี 2567 อยู่ที่ 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ ปตท.ได้ร่วมผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ มุ่งบรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2050 เร็วกว่าเป้าหมายประเทศถือเป็นความท้าทายในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่การรักษาความมั่นคงพลังงาน 

รวมถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

จับตาภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจโลก

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้โควิด-19 คลี่คลาย แต่โลกต้องเผชิญความท้าทายมากทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างรัสเซียและยูเครน สหรัฐกับจีน สงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ 

รวมทั้งวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องในจีนจากการที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงโดยสร้างกฎระเบียบให้เข้มงวดขึ้น และนโยบาย Net Zero ของประเทศต่างๆ

สำหรับการเดินหน้าสู่ยุคพลังงานแห่งอนาคตให้มีความยั่งยืนด้านพลังงานจะสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3 ด้าน คือ 

1.ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) การจัดหาพลังงานพื้นฐานและความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการปัจจุบันและอนาคต 

2.ความเป็นธรรมทางพลังงาน (Energy Equity) การจัดหาพลังงานที่เข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม 

3.ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) เป็นการจัดหาพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ต่ำ

ปตท. จับตาภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจโลก หนุนน้ำมันปีหน้า75-85ดอลลาร์

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม แผนพลังงานชาติถือเป็นความท้าทาย ความเข้มข้นเวที COP28 จะเข้มข้นขึ้น จากอดีตจะเน้นความมั่นคงพลังงาน แต่วันนี้จะต้องเปลี่ยนผ่านเพราะถูกบังคับหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ดังนั้นจึงต้องปรับสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ถึง 50% จากปัจจุบันมีเพียง 14% แต่ในความท้าทายความเปลี่ยนแปลงจะเป็นโอกาส โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิต ส่วนมาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะทำให้ไทยปรับตัวและเกิดธุรกิจใหม่ อาทิ ไฮโดรเจน แบตเตอรี่ รวมถึงเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (CCS)

แนะทุกฝ่ายร่วมลดโลกร้อน

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากสุด ทั้งความท้าทายด้านดิจิทัล ภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งโครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป เด็กเกิดใหม่น้อยกว่ายอดเสียชีวิต จึงต้องเปลี่ยนจากการใช้แรงงานสู่โรโบติกส์ที่ต้องบาลานซ์ด้านสิ่งแวดล้อมเตรียมพร้อมสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โลกร้อนเกิดจากนายทุนและภาครัฐ ประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ไม่เข้าใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไม่สนใจว่าประเทศจะก้าวไปสู่โรงไฟฟ้าสะอาดหรือไม่ สนใจแต่ว่าค่าไฟฟ้าต้องไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ดังนั้น หากปล่อยให้ราคาเสรีเลยรัฐบาลจะไม่ได้เสียงจากฐานราก ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องเอาจริงเอาจังด้านนโยบายและการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน

“รัฐบาลกดค่าเอฟทีมากเอกชนที่ผลิตไฟก็ไม่ชอบ อนาคตกดมากก็ตาย บางบริษัทขาดทุนหากบิดเบือนตลาดมากเกิน ทั้งรัฐเอกชนต้องบริหารให้เหมาะสม โดยเอกชนไม่ควรคิดกำไรเกินงาม รัฐต้องให้เอกชนเดินได้ไม่ประชานิยมอย่างเดียว ทำความเข้าใจภาคประชาชน” นายสมชาย กล่าว